ช่วงเงินบาทแข็งค่า เลือกกองทุนอย่างไรให้ผลตอบแทนดีที่สุด

Experts pool

Columnist

Tag

ช่วงเงินบาทแข็งค่า เลือกกองทุนอย่างไรให้ผลตอบแทนดีที่สุด

Date Time: 11 ส.ค. 2567 09:00 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Latest


ผู้ลงทุนไทยที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคิดคำนวณผลตอบแทนกลับมาเป็นเงินบาท และสำหรับผู้ลงทุนกองทุนรวมที่ซื้อกองทุนที่ไปลงทุนต่อในต่างประเทศ ซึ่งราคา NAV/หน่วย นั้น จะสะท้อนผลตอบแทนที่คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาด้วยแล้ว แน่นอนว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินนั้น ส่งผลทั้งในทางบวกหรือลบต่อผลตอบแทนได้ (เป็นได้ทั้งตัวช่วยหรือตัวฉุด) ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Risk) นั่นเอง 


บาทแข็ง บาทอ่อน ส่งผลต่อผลตอบแทนกองทุนอย่างไร

ราคาของหน่วยลงทุน (NAV/หน่วย) จะเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ฉะนั้นเมื่อกองทุนนั้นไปลงทุนในต่างประเทศ จะลงในสินทรัพย์โดยตรง เป็น Feeder Fund หรือ Fund of Funds ทรัพย์สินนั้นจะคิดมูลค่าตามค่าเงินในต่างประเทศ แต่เมื่อต้องคำนวณกลับมาเป็น NAV/หน่วย ในค่าเงินบาท ตรงนี้แหละที่อัตราแลกเปลี่ยนจะเข้ามามีผลมาก ถ้าบาทอ่อน ก็เป็นตัวช่วยให้ NAV/หน่วย สูงขึ้นกว่าผลการดำเนินงานจริง แต่ในทางกลับกัน ถ้าบาทแข็งแบบช่วงนี้ ก็เป็นตัวฉุดให้ NAV/หน่วย ลดลงกว่าผลการดำเนินงานจริง


ลงทุนในกองทุนรวม จะบริหารจัดการหรือลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้หรือไม่

เครื่องมือที่เข้ามาช่วยนักลงทุนบริหารความเสี่ยงนี้คือ การเลือกปิด (Hedged) ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การปิดอัตราแลกเปลี่ยนคือ การใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อรักษากรอบของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ให้เป็นไปตามกลไกตลาด 100% เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการไม่ปิดความเสี่ยง (Unhedged) คือการเปิดโอกาสให้ ผลตอบแทนเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง 

ซึ่งกองทุนบางกอง อาจจะมีนโยบายระบุไว้ว่า จะมีการ Hedged บางส่วน โดยอาจจะขึ้นกับดุลยพินิจ ของผู้จัดการกองทุน ซึ่งผู้ลงทุนต้องไปอ่าน หนังสือชี้ชวนให้เข้าใจชัดเจน ว่ากองที่เราถืออยู่หรือสนใจจะซื้อ มีนโยบายอย่างไร 

ในขณะที่บาง บลจ.บางกองทุน อาจมีทางเลือกให้นักลงทุน สามารถเลือก Hedged หรือไม่ Hedged ได้ด้วยตนเองตั้งแต่การเลือกซื้อเลย เพราะจะแยกประเภทไว้ ตัวอย่างเช่น KKP GNP กับ KKP GNP-H, SCBGOLD กับ SCBGOLDH หรือ ES-GoldBullion-UH กับ ES-GoldBullion-H เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกได้เอง ให้เหมาะกับสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนั้น คือ ถ้าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า เช่น ช่วงตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 67 จนถึงช่วงที่เขียนบทความนี้ (ต้นเดือน ส.ค. 67) ที่เงินบาทเคลื่อนไหวจากประมาณ 37 THB/USD มาสู่ประมาณ 35 THB/USD การเลือกกองทุนแบบปิดความเสี่ยง (Hedged) จะได้เปรียบกว่า แต่ถ้าเป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า เช่น ย้อนกลับไปช่วงประมาณเดือน ก.พ. 66 ถึงต้นเดือน พ.ค. 67) การเลือกกองทุนที่เปิดความเสี่ยง (Unhedged) ก็จะได้เปรียบกว่า


Hedged/Unhedged มีผลแค่ไหนกับผลตอบแทน

การจะส่งผลมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าเงินในขณะนั้น (เพราะเป็นการปิดความเสี่ยงของค่าเงิน) ยกตัวอย่างเปรียบเทียบผลตอบแทนในกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ 2 กองทุน ที่ บลน.เทรเชอริสต์แนะนำ โดยหากเริ่มเข้าซื้อกองทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 66 ซึ่งช่วงนั้นเงินบาทอยู่แนวโน้มอ่อนค่า (จาก 32.70 THB/USD ในวันที่ 1 ก.พ. 66 ไปสู่ 37.14 THB/USD ในวันที่ 30 เม.ษ. 67 หรืออ่อนค่าลง 11.95%) แต่หลังจากนั้นทิศทางค่าเงินบาทเริ่มเปลี่ยนเป็นแข็งค่า ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 67 จนถึงวันที่ 2 ส.ค. 67 (จาก 37.14 THB/USD ในวันที่ 1 พ.ค. 67 ไปสู่ 35.16 THB/USD ในวันที่ 2 ส.ค. 67 หรือแข็งค่าขึ้น 5.63%)

รูปที่ 1 : อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 66 ถึง 2 ส.ค. 67 (ภาพจาก Tradingview.com)

โดยจะเปรียบเทียบ 2 กรณี คือ กรณีแรก เริ่มเข้าซื้อในกองทุนแบบ Unhedged คือ ES-GoldBullion-UH หรือ SCBGOLD ในวันที่ 1 ก.พ. 66 ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า (กองทุนแบบ Unhedged ได้เปรียบ) แล้วถือมาจนถึงวันที่ 2 ส.ค. 67 โดยไม่ได้เปลี่ยนเป็นกองทุนแบบ Hedged ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเลย กับกรณีที่สอง คือ มีการเปลี่ยนมาเป็นกอง Hedged (ES-GoldBullion-H หรือ SCBGOLD) ตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 ตามทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า จะได้ผลตอบแทนต่างกันดังนี้

 

รูปที่ 2 : เปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน ในการสลับ/ไม่สลับกองทุนแบบ Hedged/Unhedged ตามทิศทางค่าเงิน 

(ข้อมูลจาก บลน.เทรเชอริสต์ www.treasurist.com)


อีกตัวอย่างที่จะช่วยให้เห็นประโยชน์ของการเลือกปิดหรือไม่ปิดความเสี่ยงได้ชัดขึ้น คือ ถ้ากลับไปขยายดูในช่วงต้นเดือน ต.ค. 66 ถึง ปลายเดือน ธ.ค. 66  เป็นช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเยอะ จาก 37 THB/USD เป็นประมาณ 34 THB/USD (หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 8%) ผลตอบแทนของคู่กองทุนระหว่างการ UH และ H เป็นดังนี้

 

รูปที่ 3 : เปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน ระหว่างกองทุนแบบ Hedged/Unhedged ในช่วงเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า 

(ข้อมูลจาก บลน.เทรเชอริสต์ www.treasurist.com)


ซึ่งจะเห็นว่า แค่เรื่องของค่าเงินนั้นส่งผลต่อ ผลตอบแทนกองทุนรวมได้มากทีเดียว ทั้งที่เป็นกองคู่แฝดที่มีนโยบายลงทุนเดียวกัน แต่ต่างกันแค่ปิดหรือไม่ปิดความเสี่ยง ดังนั้นในช่วงเวลาที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเช่นนี้ การเลือกกองทุนต่างประเทศแบบ ปิด รับความเสี่ยง จะได้เปรียบกว่า


การลงทุนในกองทุนรวม ถึงแม้จะมีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารให้ แต่หลายอย่างก็มีนโยบายที่กำหนดไว้แต่แรก (เช่น Hedged/Unhedged) ที่ผู้จัดการกองทุนไม่สามารถเปลี่ยนได้เอง ถ้าหากผู้ลงทุนเข้าใจเครื่องมือ และทางเลือกที่มี ก็จะสร้างความได้เปรียบในการลงทุนได้ด้วยตนเอง หรือพิจารณาเลือกลงทุนกับแพลตฟอร์มที่คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้นักลงทุนได้รับข้อมูลและช่วยจัดการตัวแปรที่ควบคุมได้ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดในทุกช่วงเวลา


Author

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์, CISA

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์, CISA
กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum และ นักแปลอาสาของ TED.com