เปิดยุทธศาสตร์ลดโลกเดือด

Experts pool

Columnist

Tag

เปิดยุทธศาสตร์ลดโลกเดือด

Date Time: 26 ก.ค. 2567 16:00 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ Green Productivity, Green Marketing และ Green Finance เพื่อเป็นเรือธงผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Latest


เพื่อร่วมเกาะขบวนลดโลกเดือด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการ “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมให้ได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อปี

เพราะต้องยอมรับว่า ภาวะโลกร้อน ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายๆ ประเทศต้องออกมาตรการเข้มงวดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญๆ ของไทย เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการ CBAM หรือมาตรการจ่ายค่าปรับทางคาร์บอน สำหรับสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเกินกำหนด และได้เริ่มบังคับใช้กับสินค้า 6 ประเภท ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย พลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจน จากนั้นปี 2569-2570 จะขยายไปครอบคลุมสินค้าเคมีภัณฑ์และพอลิเมอร์ และมีแนวโน้มที่จะครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้าไปขายในอียู ดังนั้นผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับมาตรการดังกล่าว 

ทำให้ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม จึงได้เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ Green Productivity, Green Marketing และ Green Finance เพื่อเป็นเรือธงผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ “Moving Green Forward” เพื่อผลักดันภาคการผลิตของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างครบวงจรใน 3 ด้านนี้ ประกอบด้วย

1.Green Productivity หรือการมุ่งเน้นไปที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในภูมิภาค และยังได้สนับสนุนพลังงานสะอาด เช่น ปลดล็อกเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เปิดทางให้กับประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop ผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง และโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจสมัยใหม่ และยังเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยในการดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพราะในปัจจุบันพลังงานสะอาดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สินค้าและบริการได้รับการยอมรับในตลาดโลก รวมทั้งผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular หรือนิคมอุตสาหกรรมหมุนเวียนแห่งแรกของประเทศ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ได้ส่งเสริมการรีไซเคิลเพื่อลดการเกิดของเสีย โดยการสนับสนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี และนำใบและยอดอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวภาพแทนการเผาทิ้ง เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พร้อมทั้งส่งเสริมการนำนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว ยกระดับผู้ผลิตชิงความได้เปรียบ

2.Green Marketing หรือการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอี ให้มีความสามารถในการรับมือ และชิงความได้เปรียบในการแข่งขันของตลาดยุคใหม่ ซึ่งแม้ว่ามีกฎกติกาด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด แต่หากผู้ประกอบการก้าวผ่านไปได้ก็จะทำให้มีศักยภาพเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งการสนับสนุนความรู้ในการจัดทำเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย (Carbon Footprint of Product) ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นงาน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน

รวมไปถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization) เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง รวมทั้งการส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อทำให้ภาคการผลิตของไทยเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างครบวงจร ตั้งการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

3.Green Finance หรือการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้สินเชื่อลดโลกร้อน ต่างๆ อาทิ สินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) จากกองทุกเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Loan) จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM)

ขณะที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) จะได้เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรม ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อน ที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ 

ตั้งเป้าผู้ประกอบการ 1,800 ราย ร่วมโครงการ

หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ คาดว่าประเทศไทยจะสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสด้านเศรษฐกิจ โดยการนำ 3 แนวทาง ด้าน Green Productivity, Green Marketing และ Green Finance มาใช้ในกระบวนการผลิตเชื่อมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรม “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” โดยผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้เรียนรู้เทรนด์ธุรกิจ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ยุคใหม่ครบทุกมิติ

ที่สำคัญ ดีพร้อม ตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการ 1,800 ราย คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 1,380 ล้านบาท โครงการดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้.

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ