USD Futures เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

Experts pool

Columnist

บล.บัวหลวง

บล.บัวหลวง

Tag

USD Futures เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

Date Time: 14 ก.ย. 2567 09:06 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Latest


USD Futures เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 67 พบว่า ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าจากบริเวณ 34.37 บาท
ต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปทำจุดอ่อนค่าสุดของปีช่วงเดือนพ.ค. ที่ 37.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ต้นเดือนก.ค. จะพลิกแข็งค่าจาก 36.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาปิดสิ้นเดือนส.ค. ที่ 33.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทนั้น เคลื่อนไหวผันผวนสูง ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกต้องเผชิญ อย่างไรก็ดีแม้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกจะเผชิญความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็สามารถที่จะบริหารความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยในปัจจุบันได้มีเครื่องมือทางการเงินให้เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็น Forwards และ Options ที่สามารถทำกับธนาคารพาณิชย์ หรือ Futures ที่ซื้อขายผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX

เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนใน TFEX

เครื่องมือทางการเงินสำหรับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสามารถซื้อขายผ่าน TFEX ได้นั่นก็คือ USD Futures โดย USD Futures คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายจะเข้ามาตกลงราคาซื้อขายกันในปัจจุบัน มีลักษณะของสัญญาที่เป็นมาตรฐาน
และมีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบตามที่ระบุไว้

การซื้อขาย USD Futures ทำได้โดยการเปิดบัญชีซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัทหลักทรัพย์
ไม่จำเป็นต้องมีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ และสามารถซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน Streaming ได้ถึงตี 3 ของวันถัดไป ซึ่งจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบนำเข้าและส่งออกสามารถล็อกอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ ดังตัวอย่างด้านล่าง

ตัวอย่าง ผู้นำเข้าต้องชำระค่าซื้อสินค้าในวันที่ 27 ธ.ค. 67 จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทอ่อนค่า จึงเข้าทำการ Long USDZ24 (หมดอายุเดือน ธ.ค. 67) ที่ 33.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 100 สัญญา (ตัวอย่างไม่รวมค่าธรรมเนียมการซื้อขาย)

ที่มา: Settrade Streaming ณ วันที่ 10 ก.ย. 67

เนื่องจาก USD Futures มีขนาดสัญญาเท่ากับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องใช้ USD Futures จำนวน 100 สัญญา 

กรณีเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ผู้นำเข้าซื้อดอลลาร์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องใช้เงิน (36.75 x 100,000) = 3,675,000 บาท
USD Futures จะได้กำไรเท่ากับ (36.75 - 33.57) x 1,000 x 100 = 318,000 บาท
สุทธิแล้วใช้เงินซื้อดอลลาร์ไปทั้งหมด (3,675,000 - 318,000) = 3,357,000 บาท
กรณีเงินบาทแข็งค่าไปที่ 32.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ผู้นำเข้าซื้อดอลลาร์ที่ 32.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องใช้เงิน (32.89 x 100,000) = 3,289,000 บาท USD Futures จะขาดทุนเท่ากับ (32.89 - 33.57) x 1,000 x 100 = 68,000 บาท สุทธิแล้วใช้เงินซื้อดอลลาร์ไปทั้งหมด (3,289,000 + 68,000) = 3,357,000 บาท 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในอนาคตไม่ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไปที่เท่าไหร่ ผู้นำเข้าจะมีต้นทุนในการซื้อดอลลาร์ที่ 3,357,000 บาท และเท่ากับราคาที่เข้าไปซื้อ USD Futures เอาไว้

จากตัวอย่างข้างต้นผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านทุก ๆ ท่านน่าจะได้เห็นภาพกลไกของการใช้ USD Futures มาบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ว่าได้เข้ามาช่วยผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกได้อย่างไร และหวังว่าบทความในตอนนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ USD Futures ไม่มากก็น้อย