ตำนาน “จำนำข้าว” ปิดไม่ลง แม้ขายข้าว 10 ปีหมด

Experts pool

Columnist

Tag

ตำนาน “จำนำข้าว” ปิดไม่ลง แม้ขายข้าว 10 ปีหมด

Date Time: 5 ก.ค. 2567 19:13 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • โครงการจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปีการผลิต 2551-2557 เป็นมหากาพย์โครงการรัฐที่ยังรอการแก้ปัญหา "ข้าวในสต๊อกรัฐ" ลอตสุดท้าย 15,000 ตัน หรือ "ข้าว 10 ปี" จนถึงวันนี้ ยังต้องรอประกาศรายชื่อบริษัทที่ประมูลข้าว และยังต้องรอการ "ปิดบัญชีจำนำข้าว"

Latest


ความหวังจะ “ปิดตำนาน” โครงการจำนำข้าว ยังเลือนราง เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถประกาศผลประมูลข้าวสารหอมมะลิสต๊อกรัฐลอตสุดท้าย 15,000 ตัน ที่ จ.สุรินทร์ หรือ “ข้าว 10 ปี” ได้

หลังจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เปิดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติ 7 ราย ยื่นซองเสนอราคาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2567 และเปิดซองในวันเดียวกัน

จนทราบว่า “บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด” เสนอราคาซื้อสูงสุดกิโลกรัม (กก.) ละ 19.07 บาท รวมกว่า 286 ล้านบาท อันดับ 2 “บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด” เสนอซื้อ กก.ละ 18.01 บาท รวม 270.68 ล้านบาท

แต่ตามธรรมเนียม คณะกรรมการรับซอง เปิดซอง และต่อรองราคา ที่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น อคส. กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ ฯลฯ นั้น ขอเวลาต่อรองราคา เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด และจะประกาศผลวันที่ 21 มิ.ย. 2567 แต่มีเหตุให้ต้องเลื่อนมาเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ 4 ก.ค. 2567 และล่าสุดเลื่อนเป็นวันที่ 5 ก.ค. 2567 แต่ก็ยังไม่ประกาศเสียที และยังไม่รู้ว่า จะประกาศผลได้เมื่อไร?? 

“วีเอท” การันตีมีศักยภาพซื้อข้าวรัฐ

สาเหตุที่เลื่อนการประกาศผล เพราะยังมีข้อสงสัยในตัว “วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง” ที่ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนนิติบุคคลปี 2563 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนจากงบดุลปีล่าสุด 1-2 ล้านบาท

แต่กลับเสนอราคาซื้อข้าวรัฐสูงถึง 286 ล้านบาท จึงเกรงว่า อาจไม่มีศักยภาพซื้อข้าวได้จริง หรืออาจเป็น “นอมินี” ของใครหรือไม่ อย่างไร

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ จึงสั่งให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นซองเสนอราคาที่เหลืออีก 6 รายอีกครั้งภายใน 7 วัน และครบกำหนดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567

ซึ่งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 ภูมิธรรม บอกกับผู้สื่อข่าวว่าระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศมาเลเซีย หากตรวจสอบแล้ว ไม่มีอะไรติดขัด สามารถเคลียร์ทุกประเด็นได้ ก็น่าจะประกาศผลได้วันที่ 4 ก.ค. 2567

แต่มาถึงวันที่ 4 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้สอบถามอีกครั้ง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ บอกว่า คณะกรรมการฯยังไม่ได้รายงานผลให้ทราบ ขอผัดไปอีกเป็นวันที่ 5 ก.ค. แต่เมื่อถึงวันที่ 5 ก.ค. ก็ยังประกาศไม่ได้อีกเช่นเคย

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่!! จนผู้คนในวงการค้าข้าววิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีความพยายามจะไม่ให้ “วีเอท” ได้ข้าวลอตนี้หรือไม่ หรือจะขายให้รายอื่นแทนหรือไม่

ทั้งๆ ที่ นี้ “วีเอท” ทำหนังสือถึง อคส.ยืนยันว่า เพิ่มราคาเสนอซื้อให้อีก กก.ละ 0.003 บาท เป็น กก.ละ 19.073 บาท จากเดิม 19.07 บาท

และยินดีนำเงินกว่า 286 ล้านบาทมาวางไว้ที่ อคส.เพื่อรับประกันว่า มีศักยภาพซื้อจริง และหากทำสัญญาซื้อข้าวจาก อคส.แล้ว จะไม่ทิ้งสัญญาแน่นอน

ยังปิดบัญชี “จำนำข้าว” ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ขายข้าวลอตนี้ และนำเงินส่งคลังแล้ว ก็ใช่ว่า จะปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ เพราะยังมีข้าวสารในสต๊อกรัฐจากโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” บางส่วนที่ยังเหลืออยู่

ดังนั้น ต้องรอขายข้าวส่วนที่เหลือให้หมด และนำเงินส่งคลังให้หมดก่อน คณะกรรมการชำระบัญชีโครงการรับจำนำ จึงจะจัดทำบัญชี และปิดบัญชีได้

ทีนี้ก็จะได้รู้กันว่า โครงการจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปีการผลิต 2551-2557 จะสร้างรายได้ให้กับรัฐเท่าไร หรือทำให้รัฐขาดทุน หรือรัฐเสียหายจากการทุจริต ประมาทเลินเล่อของผู้เกี่ยวข้องเท่าไร

สำหรับข้าวที่ยังเหลืออยู่ ประกอบด้วย ส่วนแรก ข้าวสารที่อยู่ในความครอบครองของบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นข้าวสารที่รัฐฝากเก็บในโกดัง หรือคลังสินค้าเอกชน แต่เสียหายตามภัยที่ซื้อไว้ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ บริษัทประกันภัยได้จ่ายสินไหมทดแทนให้รัฐ และนำข้าวไป บริษัทประกันภัยจึงต้องนำไปขาย หรือประมูล

ส่วนที่สอง ข้าวสารในโกดังของเอกชน แต่เจ้าของโกดังยึดหน่วง ไม่ยอมให้ผู้ชนะประมูลช่วงที่ผ่านมา รับมอบข้าว หรือขนข้าวออกจากโกดัง 

และส่วนที่สาม ข้าวสารที่ยังติดคดีฟ้องร้องกันอยู่ ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน จึงจะนำข้าวของกลางไปขายได้

มีการประเมินว่า เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2551-2557 ในความรับผิดชอบของ อคส. เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล จากผู้เกี่ยวข้องกระทำการทุจริต หรือประมาทเลินเล่อ 

โดย อคส.ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งหมด 1,143 คดี ความเสียหายรวม 495,000 ล้านบาท เป็นคดีอาญา 897 คดี ความเสียหาย 118,800 ล้านบาท และคดีแพ่งอีก 246 คดี ความเสียหาย 376,300 ล้านบาท

แต่ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ทั้งผลขาดทุนจากการขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาจำนำ ค่าบริหารจัดการอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่ารักษาคุณภาพ เมื่อรวมกันแล้ว รัฐน่าจะเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

สำหรับข้าวสารในสต๊อกรัฐ จากโครงการรับจำนำปี 2551-2557 นั้น รัฐบาล “คสช.” รับข้าวมาจากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” รวม 13.9 ล้านตัน และได้เปิดระบายต่อเนื่องจนถึงรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทั้งหมด 44 ครั้ง รวม 13.883 ล้านตัน มูลค่ารวม 105,000 ล้านบาท

แต่ยังเหลืออีก 15,000 ตันที่ จ.สุรินทร์ ที่ยังรอประกาศผลประมูลอย่างใจจดใจจ่อ!! 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ