โอกาสลดดอกเบี้ยของไทย ปิดตายหรือยัง

Experts pool

Columnist

Tag

โอกาสลดดอกเบี้ยของไทย ปิดตายหรือยัง

Date Time: 14 มิ.ย. 2567 17:40 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • การลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ได้ผลทั้งในความจริงและทางจิตวิทยาว่า นโยบายการเงินพร้อมที่จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ช่วยไม่ให้เศรษฐกิจแย่ลงไปกว่านี้ และการส่งสัญญาณที่คิดว่า “เล็กน้อย” นี้ อาจจะไปช่วยปลดล็อก “กลไกตัวเล็กๆ” ให้สามารถส่งพลังไปช่วยให้เครื่องยนต์ตัวใหญ่ให้เดินเครื่องเต็มกำลังได้

Latest


กลับมาเจอกันอีกครั้ง ในช่วงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติบ้านเรา และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งมติของทั้ง 2 ธนาคารกลางออกมาเหมือนกัน คือ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหวังของรัฐบาล และเอกชนที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

โดยในส่วนของเฟดนั้น ทิศทางนโยบายการเงินปีนี้อยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน เพราะจากต้นปีที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ว่า จะเป็นปีของ “อัตราดอกเบี้ยขาลง” โดยคาดกันว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้งในปีนี้ และเริ่มลดครั้งแรกในการประชุมเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มี “ครั้งแรก”ของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และจากข้อมูลเครื่องชี้ที่ประกาศออกมานั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า เฟดอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4 ซึ่งทำให้ตลอดทั้งปีนี้ เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงานที่ออกมาแข็งแกร่ง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงมากในระดับที่ต่ำจนน่าพอใจ

หันกลับมาที่ กนง. บ้านเรา จากครั้งก่อนหน้าที่ กนง. มีมติ 5 เสียงต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% การประชุม กนง. ครั้งล่าสุด มติขยับขึ้นมาเป็นกรรมการ 6 เสียง มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เนื่องจากเห็นทิศทางของตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ออกมาตามความคาดหมาย รวมทั้งการประเมินภาพเศรษฐกิจไทยที่เหลืออีก 3 ไตรมาส จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีกรรมการ 1 เสียง ที่ยังคงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพราะต้องการให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ และลดภาระลูกหนี้ลง

กนง. ยืนยันด้วยว่า ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม (ไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป) สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

ขณะที่ในส่วนของทิศทางเศรษฐกิจไทยนั้น เมื่อตั้งต้นจากตัวเลขจริงของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศว่าขยายตัว 1.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แบงก์ชาติมองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2% ไตรมาสที่ 3 ขยับขึ้นมาขยายตัวได้ 2-3% และขยับขึ้นเป็นขยายตัว 3-4% ในไตรมาสที่ 4 ทำให้ กนง. คงตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และขยับตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเป็น 3% ในปี 2568

นอกจากนั้น ยังได้ “โปรยยาหอม” ให้รัฐบาลชื่นใจด้วยว่า “เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสด้านสูงที่จะขยายตัวได้ถึง 3%” ด้วยซ้ำ

ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า “การประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลบวกที่ชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาก่อนหน้า และยังไม่ได้รวมผลดีจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งหากมาตรการเหล่านั้นได้ผลดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3% ก็เป็นไปได้”

ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุม กนง. เสียงจากฝั่งภาคเอกชนยังคงเรียกร้องต่อเนื่องให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า “การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งหากมองในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขัน แน่นอนว่าต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

แต่เสียงในฝั่งของรัฐบาลอาจจะเงียบไปสักนิด โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในทำนองว่า “กนง. คงมีข้อมูลที่คิดว่าถูกต้องจึงคงอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่รัฐบาลเห็นว่าควรเป็นอีกอย่าง ดังนั้น รัฐบาลเองก็จะพยายามหาแนวทางอื่นในการช่วยเหลือประชาชนทดแทน รวมทั้งอาจจะไปปรับกรอบนโยบายการเงิน เพื่อให้เอื้อต่อการลดดอกเบี้ยมากขึ้นในอนาคต”

โดยมีเสียงเชียร์ให้นายกฯ ลงไปหารือเรื่องเหล่านี้กับธนาคารพาณิชย์โดยตรง เหมือนการขอความร่วมมือให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเปราะบางในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลดีกว่าการขอให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย

ขณะที่การประชุม กนง. ในอีก 3 นัดที่เหลือของปีนี้ ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 21 ส.ค. วันพุธที่ 16 ต.ค. และวันพุธที่ 18 ธ.ค. 2567 ความเห็นของสำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจในขณะนี้ออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ “มีความเห็นที่แตกต่างกัน”

โดยส่วนใหญ่มองว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะถัดไป ตลอดทั้งปี กนง. มองว่า เงินเฟ้อจะขยายตัว 0.6% โดยในช่วงไตรมาส 3 เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบนโยบายการเงิน หรือต่ำกว่า 1% และขยับเหนือ 1% หรือกลับเข้ากรอบล่างของนโยบายการเงินในไตรมาสที่ 4 ทำให้มีโอกาสสูงที่ กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องไปในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือ

ซึ่งหมายถึง “การปิดตาย” ไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสักครั้งเดียวในปีนี้!!

SCB EIC วิเคราะห์มีโอกาสลดดอกเบี้ยปลายปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิเคราะห์อีกส่วนที่มองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 1 ครั้ง และเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 คือ ในการประชุมวันที่ 16 ต.ค. หรือไม่ก็ในการประชุมส่งท้ายสิ้นปีวันที่ 18 ธ.ค.

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ มีปัญหาจากรายได้ที่ยังต่ำกว่าในช่วงก่อนโควิด ขณะที่ล่าสุดเห็นกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลาง (รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 60,000 บาท) เริ่มมีรายได้ไม่พอการจ่ายหนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อธนาคารพาณิชย์เห็นแนวโน้มดังกล่าว และมีความกังวลหนี้เสียจะเพิ่มสูงขึ้น ก็จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับทั้งครัวเรือน และเอสเอ็มอี เพื่อลดโอกาสการเกิดหนี้เสีย แต่ผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดสภาวะตึงตัวทางการเงินของคนไทย และระบบการเงินของประเทศมากขึ้นด้วย และจะมีผลต่อเนื่องให้การใช้จ่ายรวมของประเทศลดลง หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ทันเวลา และการส่งออกไทยไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดไว้  

เมื่อถึงจุดนั้น กนง. น่าจะมีความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจ เพราะการลดดอกเบี้ยในช่วงที่ภาคการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษ การลดดอกเบี้ยจะไม่มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวลเช่นในอดีตที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่มีผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่มักเป็นปัจจัยที่ “สำนักวิเคราะห์วิจัยทางเศรษฐกิจ” มักไม่ค่อยจะพูดถึง หรือนำไปรวมในการวิเคราะห์ คือ “ความเสี่ยงที่มาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น” 

โดยในเดือน มิ.ย.นี้ และต่อเนื่องไปในถึงครึ่งปีหลังของปีนี้ ยังมีการไต่สวน และการตัดสินคดีความทางเมืองอีกหลายคดีรออยู่ รวมทั้งยังอาจเห็นความไม่แน่นอนในด้านเสถียรภาพของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับเปลี่ยนทางการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้มาก นอกจากนั้น สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้นโยบายการคลังทำงานได้ไม่เต็มที่ จนต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ จึงอาจจะยังไม่ได้ปิดตายอย่างที่หลายๆ คนคิด

ท้ายที่สุด อยากย้ำถึงคำพูดหนึ่งที่ธนาคารกลางหลายประเทศชอบใช้ ที่ว่า “การลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ไม่ได้สร้างความแตกต่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดครั้งเดียวแล้วหยุดไป” 

เพราะอีกทางหนึ่ง การลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ได้ผลทั้งในความจริงและทางจิตวิทยาว่า นโยบายการเงินพร้อมที่จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ช่วยไม่ให้เศรษฐกิจแย่ลงไปกว่านี้ และการส่งสัญญาณที่คิดว่า “เล็กน้อย” นี้ อาจจะไปช่วยปลดล็อก “กลไกตัวเล็กๆ” ให้สามารถส่งพลังไปช่วยให้เครื่องยนต์ตัวใหญ่ให้เดินเครื่องเต็มกำลังได้อย่างไม่คาดคิด

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ประอร นพคุณ

ประอร นพคุณ
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ