อัดยาแรงจัดระเบียบโมบายแบงกิ้ง

Experts pool

Columnist

Tag

อัดยาแรงจัดระเบียบโมบายแบงกิ้ง

Date Time: 31 พ.ค. 2567 19:25 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ถึงเวลาใช้ “ยาแรง” กวาดล้าง นำไปสู่การจัดระเบียบบัญชีโมบายแบงกิ้งที่มีอยู่ 106 ล้านบัญชีทั่วประเทศ กำหนดให้เจ้าของบัญชีโมบายแบงกิ้งต้องมีชื่อตรงกับเจ้าของเบอร์มือถือ โดยมีการเปิดเผยตัวเลขคร่าวๆ ว่า อาจมีโมบายแบงกิ้งมากกว่า 30 ล้านบัญชี ที่ชื่อเจ้าของบัญชีไม่ตรงกับชื่อจดทะเบียนเป็นเจ้าของเบอร์มือถือ

Latest


การประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อกวาดล้างอาชญากรรมและการพนันออนไลน์ให้สิ้นซากไปจากสังคมไทย นำไปสู่การใช้ “ยาแรง” ตัดตอนซิมผี-บัญชีม้า ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการอาชญากรรมออนไลน์ ใช้หลอกลวง ซ่อนเร้น เบี่ยงเบนเส้นทางเงิน ทำให้การสืบสาวหาตัวการใหญ่ทำได้ยากเย็นยิ่ง

ก่อนหน้านี้เราได้เห็นมาตรการปราบซิมผีที่เป็นรูปธรรม ย้อนกลับไปเดือน ก.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนดเดดไลน์ให้ผู้ใช้มือถือระบบบัตรเติมเงิน หรือพรีเพด (ทั้งที่ใช้งานอยู่แล้วและเปิดบริการใหม่) ต้องใช้บัตรประชาชนในการซื้อซิมเพื่อแสดงตัวตน จากที่เคยซื้อกันได้ง่ายดาย ใช้แล้วทิ้ง เป็นซิมผีที่ไร้ตัวตน ไม่มีเจ้าของ ไม่สามารถติดตามหาผู้กระทำความผิดได้

แต่ 2 ปีให้หลังมานี้ ซิมผีกลับมาระบาดหนักเพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้กลเม็ดหลอกเก่ง หลอกง่าย หลอกสำเร็จ แถมให้ส่วนแบ่งไม่น้อย ว่ากันว่าหากหลอกเหยื่อได้ 1 ล้านบาท โจรคอลเซ็นเตอร์จะได้ส่วนแบ่งที่ 60,000-70,000 บาท ยิ่งภาครัฐเพิ่มมาตรการเข้มงวด กำหนดโทษสูงขึ้น ส่วนแบ่งยิ่งสูง เสี่ยงเพียงใดก็ยังมีคนพร้อมลอง

และก็เป็นสำนักงาน กสทช. อีกครั้ง ที่พยายามวิ่งไล่จับคนร้าย กำหนดให้คนที่เป็นเจ้าของซิมจำนวนมากเกินปกติต้องมาแสดงตัวตนอีกครั้ง ตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย ไปจนถึง 101 เลขหมายขึ้นไป และคนที่โทรออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน ต้องมาแสดงตนเพื่อความบริสุทธิ์ใจ มาตรการนี้ทำให้ กสทช. สามารถทยอยปิดเบอร์ต้องสงสัยไปได้แล้วมากกว่า 2 ล้านเบอร์

แม้ซิมผีน่าจะทยอยลดลงในที่สุด แต่ในส่วนของบัญชีม้ายังไม่มีความคืบหน้าที่น่าพอใจนัก พีรธร วิมลโลหการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบ ปปง. เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2567 ว่า ปปง. ได้แจ้งชื่อผู้ต้องหาในคดีบัญชีม้าไปยังธนาคารและสถาบันการเงิน เพื่อระงับการทำธุรกรรมผ่านทางโมบายแบงกิ้งแล้วกว่า 30,000 รายชื่อ ปิดบัญชีม้าไปแล้วกว่า 300,000 บัญชี

แต่ก็เป็น พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. เองที่ยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีบัญชีม้าหมุนเวียนอยู่ในระบบมากกว่า 1 ล้านบัญชี แถมมีเพิ่มขึ้นเดือนละ 20,000 บัญชี และเป็นบัญชีโมบายแบงกิ้ง

จึงน่าจะถึงเวลาใช้ “ยาแรง” กวาดล้าง นำไปสู่การจัดระเบียบบัญชีโมบายแบงกิ้งที่มีอยู่ 106 ล้านบัญชีทั่วประเทศ กำหนดให้เจ้าของบัญชีโมบายแบงกิ้งต้องมีชื่อตรงกับเจ้าของเบอร์มือถือ โดยมีการเปิดเผยตัวเลขคร่าวๆ ว่า อาจมีโมบายแบงกิ้งมากกว่า 30 ล้านบัญชี ที่ชื่อเจ้าของบัญชีไม่ตรงกับชื่อจดทะเบียนเป็นเจ้าของเบอร์มือถือ

ในประมาณการ 30 ล้านบัญชีดังกล่าว ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าเป็นบัญชีม้าทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎหมายกำหนดให้เจ้าของบัญชีโมบายแบงกิ้งต้องเป็นคนเดียวกับเจ้าของเบอร์มือถือที่ผูกบัญชีเอาไว้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เคยมีเพดานสำหรับการเปิดบัญชีแบงก์ว่าสูงสุดควรเป็นกี่บัญชี จนมีบุคคลเดียวที่เปิดบัญชีธนาคารสูงถึง 400 บัญชี (ประเสริฐ จันทรรวงทอง, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หน้า 9, 29 พ.ค. 2567) การเข้มงวดกวดขันในการเปิดบัญชีแบงก์ กลายเป็นการกำกับดูแลตัวเองของธนาคารพาณิชย์ (Self-Regulated) แล้วแต่ที่สบายใจ 

ยกตัวอย่าง ธนาคารกรุงเทพมีมาตรการเข้มงวดยิ่งกับการเปิดบัญชีใหม่ ขณะที่ธนาคารที่ขับเคลื่อนผ่านระบบดิจิทัลเป็นหลัก พนักงานน้อย แทบไม่มีสาขา เน้นเปิดบัญชีโมบายแบงกิ้งที่ต้อง “ง่าย” เข้าไว้

สุจริตชนมากมายจึงเป็นเจ้าของบัญชีโมบายแบงกิ้งที่ไม่ใช่เจ้าของเบอร์มือถือ ตั้งแต่ผู้สูงวัยที่เปิดบัญชีโดยใช้เบอร์บุตรหลาน, คนพิการที่มีผู้ดูแลเปิดเบอร์มือถือให้, พนักงานที่บริษัทมีมือถือให้ใช้พร้อมเบอร์ ตลอดจนลูกค้าที่ได้รับโปรโมชัน หรือแพ็กเกจพิเศษ ได้ส่วนลดสำหรับเบอร์ลูกข่ายแต่ต้องจดทะเบียนในนามบุคคลเดียว เช่น ลูกค้าไอโฟนชั้นดี รวมถึงสิทธิ์เปิดเบอร์โปรโมชันพิเศษให้คนในครอบครัว แพ็กเกจเช่นนี้เจ้าของเบอร์จะเป็นผู้ชำระเงิน แต่คนใช้เป็นคนในครอบครัว คนรักใคร่

บุคคลเหล่านี้จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเปลี่ยนเบอร์ให้ตรงกับบัญชี แต่น่าจะต้องมีหลักฐานยื่นพิสูจน์ต่อแบงก์ ขอให้รอความชัดเจนก่อน เนื่องจากขณะนี้ ปปง. และธนาคารพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างส่งข้อมูล 106 ล้านบัญชีให้ กสทช. และค่ายมือถือตรวจสอบเลขบัตรประชาชนว่าตรงกันหรือไม่ มีจำนวนเท่าใด โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 120 วัน นับจากวันที่ 27 พ.ค. 2567 จากนั้นกระทรวงดีอี ปปง. ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง น่าจะร่วมกันกำหนดมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการกับบัญชีโมบายแบงกิ้งที่ชื่อไม่ตรงกับซิมอย่างไร

กรณีไม่สบายใจและอยากแก้ไขให้ถูกต้อง การเข้าไปแจ้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของเบอร์กับศูนย์บริการมือถือมีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย 

1. เจ้าของเบอร์เดิมต้องไปพร้อมเจ้าของเบอร์ใหม่ เพื่อแสดงตัวตนทั้งคู่ เพราะการเปลี่ยนชื่อผู้จดทะเบียน เป็นการยินยอมให้ภาระการชำระเงินเป็นของเจ้าของใหม่ หากมีกรณีผ่อนชำระ, กรณีติดสัญญา เช่น ซื้อเบอร์มงคลพร้อมแพ็กเกจ 3 ปี ห้ามเปลี่ยนเจ้าของ (เบอร์มงคลมีมูลค่า) ก็อาจเป็นปัญหา ทำให้เปลี่ยนชื่อเจ้าของไม่ได้ 

2. การเปลี่ยนชื่อเจ้าของเบอร์ เป็นการยุติสัญญา ค่ายมือถือจะทำสัญญาใหม่กับเจ้าของใหม่ โปรโมชันและแพ็กเกจเดิมจะต้องสิ้นสุดลง หากโปรโมชันดังกล่าวยังมีให้บริการอยู่ก็ไม่เป็นปัญหา แต่หากไม่มีแล้ว ต้องเปลี่ยนโปรโมชันใหม่ ที่อาจไม่ถูกใจเท่าโปรเดิม 

3. กรณีบุคคลต่างด้าวที่ใช้พาสปอร์ต หรือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวเป็นหลักฐานในการลงทะเบียนซิมเปิดใช้บริการมือถือ ซึ่งเป็นเลขประจำตัวที่ไม่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลง อาจคุ้มค่าหากทยอยเข้าไปยังศูนย์บริการมือถือเพื่ออัปเดตเลขประจำตัวให้ถูกต้อง            

ทั้งหมดทั้งปวง ขณะที่ฝุ่นกำลังตลบอยู่นี้ แนะนำสุจริตชนตั้งสติ อยู่ในที่มั่น เมื่อการคัดกรองเสร็จสิ้นลง น่าจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนเพื่อกำหนดมาตรการต่อไป  ซึ่งต้องมีระยะเวลาให้ปฏิบัติตาม

ระหว่างนี้โมบายแบงกิ้งยังใช้งานได้ตามปกติ สุจริตชนต้องได้รับการปกป้อง แต่ทุจริตชนจะอยู่ยากขึ้น

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ศุภิกา ยิ้มละมัย

ศุภิกา ยิ้มละมัย
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ