ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนจับตามอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีข้อสั่งการของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการ “ย้ายท่าเรือกรุงเทพ” ออกจากคลองเตยโดยเร็ว
รวมถึงให้กระทรวงคมนาคมเร่งพิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยของ กทท.ทั้งหมดกว่า 2,353 ไร่ จะสามารถนำพื้นที่มาปรับปรุงพัฒนาใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นอย่างไร
โดยโจทย์ใหญ่ของการพัฒนานั้นจะต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร และยังครอบคลุมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย
จากข้อสั่งการดังกล่าวนั้นได้เกิดกระแสคุกรุ่นภายในการท่าเรือฯ เอง และ ชุมชนโดยรอบอย่างมาก เพราะหลายคนที่อยู่บริเวณดังกล่าวถึงกับนั่งไม่ติด เพราะไม่รู้ว่าข้อสั่งการที่ให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น จะต้องย้ายท่าเรือออกไปทั้งหมด หรือ บางส่วน และระยะเวลาในการย้ายจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีนโยบายสารพัดโครงการที่จะเข้ามาพัฒนาท่าเรือ และ บริเวณโดยรอบมาตลอด แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีโครงการเมกะโปรเจกต์อะไรเกิดขึ้นได้จริงสักครั้งเลย
ล่าสุด “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแล กทท. โดยตรง ได้กล่าวยอมรับว่า ทางกระทรวงคมนาคม โดย กทท. ได้รับหนังสือข้อสั่งการดังกล่าวแล้ว และขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม เป็นประธาน ขึ้นมา 1 ชุด แล้ว
ขณะเดียวกันทางการท่าเรือฯ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เช่นกัน โดยการศึกษานั้นจะใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 6 เดือน ก่อนที่ กทท. จะเสนอผลการศึกษาเสนอขึ้นมายังกระทรวงคมนาคม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า แผนการศึกษาความเป็นไปได้ จะเป็นไปในทิศทางไหน
นอกจากนั้นยังได้มีการขยายความเพิ่มเติมอีกว่า แผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีมานานแล้ว ไม่ใช่เป็นโครงการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อยกระดับให้เป็นท่าเรือทันสมัย มีศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชย์นาวี ส่งเสริมขนส่งโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน "คลองเตย" ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้ "Smart Community"
แต่การศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพครั้งนี้ ทางการท่าเรือก็จะต้องนำแผนแม่บทในการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเดิม นำมาปรับแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดใหม่ สาเหตุที่ต้องศึกษาและปรับแผนแม่บทใหม่ เนื่องจากแผนแม่บทฉบับเดิมเคยศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งในแผนพัฒนาเดิมจะมีการพูดถึงการพัฒนาพื้นที่เพียง 17 ไร่ ซึ่งอยู่ติดอาคารสำนักงานของ กทท. (นอกรั้วศุลกากร) เท่านั้น
แต่การปรับแผนแม่บทใหม่ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดกว่า 2,353 ไร่ มูลค่าลงทุนรวมหลายแสนล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน ถึงได้ข้อสรุป ว่าจะมีการพัฒนาอะไรอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็ขอยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่ได้ปิดหรือย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากพื้นที่ทั้งหมดแน่นอน แต่จะเป็นการลดขนาดการดำเนินการลงเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และนำพื้นที่ที่มี มาแบ่งกลุ่มการพัฒนา
ซึ่งจะมีทั้งการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องท่าเรือทั้งการขนส่งสินค้า และ ท่าเรือสำราญ รวมถึงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและที่อยู่อาศัย พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการแบ่งพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ เป็นต้น
งานนี้ก็คงต้องมารอดูกันว่า ทิศทางการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ย้าย-ไม่ย้าย ท่าเรือออกจากพื้นที่ จะออกมาในรูปแบบใด และจะเป็นจริงได้ตามนโยบายหรือไม่ เพราะหากสามารถทำได้จริง ถือว่าเป็นการพลิกโฉม ท่าเรือกรุงเทพ ในปัจจุบันได้แบบสิ้นเชิงแน่ๆ
แต่ถ้าเดินตามนโยบายฝันหวานไม่ได้ งานฝันที่จะยกระดับท่าเรือสีเขียว ชุมชน "Smart Community" คงล้มไม่เป็นท่า ก็เหมือนซ้ำรอยที่ผ่านมา ที่แต่ละยุคพยายามทำปั้นฝันโครงการ แต่ทำไม่ได้ก็มีมาแล้ว
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney