โศกนาฏกรรม ”แคดเมียม”

Experts pool

Columnist

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

Tag

โศกนาฏกรรม ”แคดเมียม”

Date Time: 10 พ.ค. 2567 19:18 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ถึงเวลาที่ต้องสังคายนามาตรการป้องกันการก่อให้เกิดมลพิษของ กรอ. ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง พร้อมเพิ่มเติมมาตรการการออกใบอนุญาตขนย้ายกากอุตสาหกรรมทุกชนิด ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง การติดระบบจีพีเอส ติดตามรถบรรทุกขนส่ง เพื่อไม่ให้รถถูกขับออกนอกเส้นทาง การตรวจสอบโรงงานปลายทางว่าสามารถรองรับกากที่ถูกนำไปกำจัดได้กี่ตัน ตามข้อเท็จจริงของการขนกากไปจากต้นทาง และควรมีการเพิ่มโทษทั้งทางแพ่งและอาญา หรือทั้งปรับทั้งจำผู้กระทำผิดให้รุนแรงมากขึ้น

Latest


ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ฉุกละหุกกันไปหมด สำหรับกรณีการขนย้ายกากมหันตภัย “แคดเมียม” เจ้าปัญหา จากโรงงานเจ แอนด์ บี เมททอล สมุทรสาคร ไปสู่โรงพักคอยของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จังหวัดตาก ภายหลังจากที่ต้องหยุดชั่วคราวเป็นเวลา 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

จากเหตุโซ่เกี่ยวถุงตะกอนแคดเมียมขาดหลุดร่วง ท้ังๆ ที่ยกถุงแคดเมียมสูงไม่ถึง 2 เมตร ต่อหน้าต่อหน้าคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่อุดมไปด้วยคนระดับวิศวกรชั้นหัวกะทิของประเทศ ที่เกิดความผิดพลาดท่ีไม่น่าปล่อยให้เกิดความผิดพลาด เพียงเพราะคำนวณปริมาณการรับน้ำหนักของโซ่ท่ีใช้เกี่ยวถุงผิดพลาด จนเกิดเหตุการณ์โซ่ขาดขึ้นมา

ว่ากันว่า ท้ังๆ ที่ก่อนที่จะมีการขนย้ายรอบแรกเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ได้มีการใช้กำลังภายในเคลียร์ม็อบต่อต้านการนำกากแคดเมียม กลับไปฝังกลบในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมาพลาดด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง

สำหรับการเร่ิมทยอยขนย้ายกากแคดเมียมรอบใหม่ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ได้ทำการปรับปรุงโรงพักคอย ตามข้อสั่งการของคณะทำงานแก้ปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมเรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนของการตรวจสอบความแข็งแรง และการทรุดตัวของดินลูกรังที่ผ่านการทดสอบและรับรองโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดตาก

ขณะเดียวกัน ยังได้ทำการฟื้นด้วย HDPE คุณภาพของดินเหนียวสังเคราะห์ (GCL) และระบบระบายน้ำก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และได้ดำเนินการใช้รถเฮี๊ยบติดตั้งเครน และ Pre-Sling ในการเคลื่อนย้ายถุงกากแคดเมียมทั้งหมดจากรถขนส่งเที่ยวแรก เข้าโรงพักคอยจนครบทั้ง 179 ถุง น้ำหนักรวม 256 ตัน

สำหรับสถานการณ์ ณ วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้มีการขนย้ายตะกอนแร่แคดเมียมเดินทางไปยังจังหวัดตาก 528 ถุง รวม 801.26 ตัน โดยเป็นน้ำหนักที่ชั่งก่อนการขนย้ายและคำนวณค่าความชื้นแล้ว ที่เป็นการขนย้ายจาก บริษัท ล้อโลหะไทยเมททอล จำกัด เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ จำนวน 99 ถุง รวมน้ำหนัก 141.75 ตัน ซึ่งขนย้ายครบถ้วนทั้งหมดแล้ว และขนย้ายจากบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด (โรงที่ 1) จังหวัดสมุทรสาคร ขนย้ายแล้ว 10.72% จำนวน 429 ถุง รวมน้ำหนัก 659.51 ตัน

ล่าสุด คณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานประเภท 105 และ 106 (กลุ่มโรงงานที่รับกำจัดกาก บำบัดกากอุตสาหกรรม) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 1,000 แห่ง ว่ายังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ หรือเลิกกิจการไปแล้ว ประกอบกิจการกำจัดกากอุตสาหกรรมประเภทใดบ้าง โดยกำหนดเป้าหมายปูพรมตรวจในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมีโรงงานประมาณ 80 แห่งให้แล้วเสร็จในกลางเดือน พ.ค.นี้

ส่วนโรงงานในต่างจังหวัด ได้มอบให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งกิจการกระจายตัวในจังหวัดระยอง ชลบุรี ที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก และบางส่วนตั้งอยู่ในจังหวัดตะเข็บชายแดน เพราะสามารถขอใบอนุญาตได้ง่ายกว่าจังหวัดขนาดใหญ่

เหตุผลที่คนท้ังประเทศขวัญผวากับกรณีแคดเมียมเจ้าปัญหา ที่มีปริมาณกว่า 13,000 ตัน เนื่องจากประเด็นสำคัญของแคดเมียมก็คือ ความเป็นพิษ (Toxicity) แม้ว่าแคดเมียมจะเป็นที่สารแผ่กัมมันตรังสี (Radioactive substance) ต่ำมากจนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เมื่อสะสมในร่างกายจากการบริโภค การเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังหรือการหายใจ จะนำไปสู่การทำลายไต การทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งบางชนิดเพิ่มขึ้น อาทิ ปอด ต่อมลูกหมาก การทำลายระบบสืบพันธุ์ การทำงานของหัวใจ ฯลฯ ทำให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมพยายามหลีกเลี่ยงการนำสารแคดเมียมไปใช้ในกระบวนการผลิต

ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องสังคายนาในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการก่อให้เกิดมลพิษของ กรอ. ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง พร้อมเพิ่มเติมมาตรการการออกใบอนุญาตขนย้ายกากอุตสาหกรรมทุกชนิด ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง การติดระบบจีพีเอส ติดตามรถบรรทุกขนส่ง เพื่อไม่ให้รถถูกขับออกนอกเส้นทาง การตรวจสอบโรงงานปลายทางว่าสามารถรองรับกากที่ถูกนำไปกำจัดได้กี่ตัน ตามข้อเท็จจริงของการขนกากไปจากต้นทาง

และควรมีการเพิ่มโทษทั้งทางแพ่งและอาญา หรือทั้งปรับทั้งจำผู้กระทำผิดให้รุนแรงมากขึ้น จากปัจจุบันที่แค่ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ขณะเดียวกัน จากนี้ไปสาธารณชนกำลังจับตามองว่า “ณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะพิจารณาแต่งต้ังบุคคลใดขึ้นมารับตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คนใหม่ แทน “จุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีคนปัจจุบันที่ประกาศลาออกไป เมื่อค่ำคืนวันที่ 1 พ.ค. ท่ีผ่านมา

เพราะจะเป็นบทพิสูจน์ การกอบกู้และทวงคืนศักดิ์ศรีของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้กลับมายืนในสายตาของคนทั้งประเทศ ว่าได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจังและยังเป็นภาพสะท้อนถึงวิจารณญาณของคนแต่งตั้งเป็นสำคัญ

ที่สำคัญ เรื่องดังกล่าวหากเกิดขึ้นในต่างประเทศที่จริงจัง เข้มงวด และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน จะต้องมี “คนติดคุก” สังเวยความผิดอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ