เช็กชีพจรเศรษฐกิจไทยไหวไหม! ดอกเบี้ยสูง บาทอ่อน น้ำมันแพง

Experts pool

Columnist

Tag

เช็กชีพจรเศรษฐกิจไทยไหวไหม! ดอกเบี้ยสูง บาทอ่อน น้ำมันแพง

Date Time: 19 เม.ย. 2567 18:42 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ของ กนง.คือ “อัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งบางฝ่ายมองว่า กนง.อยู่ในภาวะ “รอให้ฝุ่นหายตลบเพื่อดูสถานการณ์” โดยต้องการเห็นภาพเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. ซึ่ง กนง.คาดการณ์ว่าจะเริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้น รวมทั้งเห็นขนาด และผลกระทบที่ชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสียก่อนว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการใช้จ่าย และกดดันเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด

Latest


หลังจากชุ่มฉ่ำกับวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และกลับมาทำงานกันเต็มเวลาอีกครั้ง ในแวดวงเศรษฐกิจ เรื่องหลักๆ ที่ยังเป็นการถูกพูดถึงต่อเนื่อง ยังเป็นความกังวลถึงทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า เราจะไปต่อกันอย่างไร และจะพ้นจากช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นตัวต่อเนื่องได้ด้วยวิธีใดกันแน่

เพราะหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ทำให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของคนไทยในอนาคตถูกบั่นทอนลง สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นเศรษฐกิจ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักวิชาการบางส่วน รวมทั้งฝั่งการเมือง ที่มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ที่ไม่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และไม่สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 

ทำให้มีหลายเสียงตั้งข้อสงสัยว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ว่ายังคง “ฟื้นตัว” ได้ต่อเนื่องนั้น “จริงหรือไม่ และจริงแค่ไหน” กนง.มีเหตุผลอื่นใดหรือไม่ ที่ยังคงดื้อดึงหวงกระสุนไว้ และไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในการคงลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งนี้ เหตุผลหนึ่งของ กนง. คือ การมองว่า ภาพเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดีขึ้นขนาดว่าจะมีโอกาสทำให้ “ศักยภาพการเติบโตที่แท้จริง” ของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางเพิ่มขึ้นจากระดับ 3% ซึ่งเป็นศักยภาพระยะสั้นในปัจจุบันได้ 

โดยปัจจัยบวกมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีกว่าคาด การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีโอกาสที่การส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว 

นอกจากนั้น อีกเหตุผลที่สำคัญของ กนง. คือ การมองว่าจะมีเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบมากขึ้นในช่วงต่อไป หลังงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และเริ่มนำออกมาใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงต่อเนื่อง จากการประมาณการในการประชุม กนง.ครั้งที่ 6 ของปี 2566 วันที่ 29 พ.ย.ที่ 3.2% ลดลงมาเป็นการขยายตัว 2.5-3% หรือค่ากลางที่ 2.75% ในการประชุม กนง.ครั้งแรกของปีนี้วันที่ 7 ก.พ.ปีนี้ และล่าสุด ในการประชุมวันที่  10 เม.ย.ที่ผ่านมา กนง.ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.6%

หากถามว่า การขยายตัวในระดับดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ แปลง่ายๆ ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนไทยจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นจนเหลือกินเหลือใช้ หรือมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นมากมายนัก

แน่นอนว่า การฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดของจำนวนนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น และวันเข้าพักที่นานขึ้น เป็นปัจจัยบวกหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่คนในภาคบริการ เกิดการใช้จ่ายในภาพรวมที่เพิ่มขึ้น 

ขณะที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเศรษฐกิจจีนเริ่มตั้งหลักได้มากขึ้น โดยเห็นการขยายตัวที่สูงเกินคาดในไตรมาสแรกของปี รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยพยุงแรงงานและผู้ประกอบการในภาคการผลิต 

นอกจากนั้น หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐ เพิ่มการก่อสร้างขนาดใหญ่ กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และเข็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมาได้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

ดังนั้น แม้จะไม่โตได้หวือหวา 4-5% อย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ แต่เศรษฐกิจปีนี้ก็จะไม่ต่ำไปกว่า การขยายตัว 2.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อนมากนัก ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากระทบการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากภาระหนี้สินเดิมที่รอให้ผ่อนจ่าย ในช่วงต่อไปคนไทยยังต้องอยู่กับค่าครองชีพในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะ จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามในหลายพื้นที่ของโลก

โดยการเผชิญหน้าของราคาพลังงานที่สูงนั้น แม้ในวันนี้ เราอาจจะกังวลการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่สูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ว่าจะเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนของสินค้า และค่าขนส่งสูงขึ้น แต่เชื่อว่า ในที่สุด รัฐบาลจะต้องหามาตรการเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ ในระดับใดระดับหนึ่ง โดยไม่ปล่อยลอยตัวเหมือนราคาน้ำมันเบนซิน เช่นเดียวกับการลดภาระค่าไฟฟ้าที่ยังจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง

ส่วนคำถามที่มีคนสงสัยว่า ดอกเบี้ย และค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรในช่วงต่อไปนั้น ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราเห็นการอ่อนตัวของค่าเงินบาทต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยต่างประเทศ ผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาด และการตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง นอกจากนั้น การอ่อนค่าของเงินบาท ยังเป็นเหตุผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้ากว่าเพื่อนบ้านอีกด้วย

การ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” ลงในขณะนี้ทันที จะกลายเป็นสาเหตุให้ “เงินทุนต่างชาติไหลออก” มากขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทร่วงลงแรงทะลุ 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรไทยถูกเทขายจากต่างชาติมากขึ้นหรือไม่ นี่คือหนึ่งใน “ความสงสัย” ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนขณะนี้ เพราะการลดดอกเบี้ย ทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนในไทย และสหรัฐฯ ห่างกันออกไป ทำให้สินทรัพย์ไทยน่าสนใจลดลง

นอกจากนั้น ยังมีบทเรียนของธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยทำให้เงินฟรังก์สวิส อ่อนค่าลงรุนแรง ทำให้นักวิชาการบางส่วน “เห็นด้วย” กับการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของนักวิเคราะห์ และนักวิชาการส่วนใหญ่ ยังคงมีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ซึ่งมีศักยภาพการขยายตัวในระยะปานกลางที่ประมาณ 3-4% อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับ 2% หรือลดลงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ 0.5%

ทำให้สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจยังคงคาดการณ์ว่า ในการประชุมที่เหลือในปีนี้ของ กนง.มีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับลดครั้งแรกในการประชุมเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้  แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองการปรับลดครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.

ขณะที่ในฝั่งการเมือง แม้ว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่กดดัน กนง.ให้ลดดอกเบี้ยอีกแล้ว เพราะทุกคนเห็นกันอยู่แล้วว่า “ควรจะลด” แต่เชื่อว่า นายกฯ ก็คงยังมีความหวังให้ กนง.ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการกระตุ้นในฝั่งนโยบายการคลังที่พยายามใส่เงินเพิ่มเข้าไปเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในโครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งยังต้องใช้กำลังภายใน และเวลาอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ของ กนง.คือ “อัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งบางฝ่ายมองว่า กนง.อยู่ในภาวะ “รอให้ฝุ่นหายตลบเพื่อดูสถานการณ์” โดยต้องการเห็นภาพเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.ซึ่ง กนง.คาดการณ์ว่าจะเริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้น รวมทั้งเห็นขนาด และผลกระทบที่ชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสียก่อนว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการใช้จ่าย และกดดันเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด

และหากทุกคนทำเป็นลืมๆ ไปสักพัก จากวันนี้ หาก กนง.เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเบาบางเกินไป ความสามารถในการชำระหนี้คนไทยอ่อนแอและมีโอกาสที่ทำให้เกิดการเร่งตัวของหนี้เอ็นพีแอล หรือหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้อย่างแน่นอน 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่


ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ประอร นพคุณ

ประอร นพคุณ
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ