เดิมพัน 1 ปี 4 เดือน 5 พันธกิจ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่

Experts pool

Columnist

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

Tag

เดิมพัน 1 ปี 4 เดือน 5 พันธกิจ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่

Date Time: 22 มี.ค. 2567 18:40 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 ประกาศ เดินหน้า 5 ภารกิจใหญ่ และมีเวลาทำงานในตำแหน่งแม่ทัพ กฟผ. 1 ปี 4 เดือนนับจากนี้

Latest


ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งเป็นนานสองนาน ในที่สุด “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 


ล่าสุดกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กฟผ. ก็ได้ประกาศ เดินหน้า 5 ภารกิจใหญ่ ให้ระบบไฟฟ้าไทยมีความมั่นคงพร้อมรองรับการเติบโตเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือก ภายใต้ราคาค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ เป็นธรรม


สำหรับภารกิจสำคัญๆ คือ 1. การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ที่ต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ.ต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก 


อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า จากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง


2. บริหารจัดการค่าไฟฟ้า ให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing หรือนโยบายการให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย 


นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้


3. การออกแบบระบบไฟฟ้า ของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจน ซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย


4. การดำเนินนโยบายตามภาครัฐ อาทินโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้า ให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที


5. กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง


ที่สำคัญ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้า เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยการเพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้า ต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้า ให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ


เทพรัตน์ กล่าวย้ำอีกว่า อยากให้ภาครัฐ พิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟฟ้า ของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุกๆ 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะประเมินต้นทุน ที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟฟ้าถูกลง ก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง 


ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟฟ้าให้ต่ำและนิ่ง อาจคำนวณทุกๆ 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงาน มีปรับขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทย ทั้งประเทศแน่นอน


ขณะที่ใน ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็น จากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวดๆ ละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย และคาดหวังอัตราค่าไฟฟ้าหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวด เพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ. 


โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่จะเน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ


แผนยุทธศาสตร์ทั้งหมด ทั้งมวลนี้ ผู้ว่าฯ กฟผ.คนล่าสุดมีเวลาทำงานในตำแหน่งแม่ทัพ กฟผ.รวมทั้งสิ้น 1 ปี 4 เดือนนับจากนี้ คงต้องตามไปดูว่า แผนงานดังกล่าว จะสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ