พลันที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแถลงข่าวออกมาในงาน "สิงคโปร์แอร์โชว์ 2024" เมื่อกลางเดือน ก.พ. 2567 โดยเปิดเผยอย่างเป็นทางการร่วมกับ บริษัท โบอิ้ง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ ถึงความชัดเจนที่จะจัดหาเครื่องบิน “โบอิ้ง 787 Dreamliner” ลำใหม่ จำนวน 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมในอนาคตสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ เข้ามาประจำฝูงบินของการบินไทยโดยหวังว่าเครื่องบินจำนวนดังกล่าวจะกลับทำการบินให้ครอบคลุมทุกจุดบินทั่วโลกนั้น
ก็ได้เกิดความเห็นในมุมมองต่างๆ กันออกมา ถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดหาว่า ต้องมากมายขนาดนั้นเลยเหรอ!!! จำเป็นที่จะต้องจัดหาเครื่องบินตอนนี้หรือไม่…
ในขณะที่ “การบินไทย” ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกำลังเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ และเพิ่งผ่านวิกฤติแผลสด ทั้งการเงินและการบินมาอย่างหนักหน่วง หลังอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกล้มหายตายจากอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิดอย่างไม่เป็นท่าทั่วโลก
ซึ่งในมุมมองทางฟากฝั่งของการบินไทยเอง โดย “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ได้ออกมาแถลงข่าวแสดงถึงฐานะทางการเงิน กระแสเงินสดในมือและความพร้อมในขณะนี้ว่า...จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวทั่วโลก ประกอบกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แถมมีกระแสเงินสดในมือ (Cash Flow) สะสมสูงกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้บริษัทฯ มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังสามารถจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ตามกำหนดที่ยื่นไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
โดยปัจจุบันการบินไทยสามารถจ่ายหนี้ในส่วนของหนี้บัตรโดยสารรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทใกล้แล้วเสร็จ เหลือประมาณ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยอดจำนวนนี้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. 2567 นี้
“อีกทั้งหนี้สินรวมที่การบินไทยต้องชำระทั้งหมดรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท และในปีนี้ก็จะเริ่มต้นชำระหนี้ที่จะครบกำหนด งวดแรกในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท และต้องชำระให้ครบใน 12 งวดใน 12 ปี ซึ่งจากการประเมินฐานะทางการเงินแล้ว มั่นใจว่าการบินไทยจะชำระหนี้ได้ตามแผน ส่วนการจัดหาซื้อเครื่องบินเพื่อเข้ามาประจำฝูง หากดำเนินการก็จะไม่กระทบต่อแผนฟื้นฟูแน่นอน”
ส่วนการเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการก็เป็นไปได้ด้วยดี พบว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูที่กำหนดว่า EBITDA ต้องมี 2 หมื่นล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานถึงผลสำเร็จการฟื้นฟู ทำให้มั่นใจว่ากลางปีนี้การบินไทยจะสามารถยื่นไฟลิ่ง และดำเนินการออกหุ้นเพิ่มทุนให้จบในปีนี้ เพื่อกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปี 2568
ดังนั้นหากจะพูดถึงการจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 45 ลำ ก็ยิ่งไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการจ่ายหนี้ของการบินไทย อีกทั้งหากดูจากฐานะการเงินของบริษัทฯ แล้ว เครื่องบิน 45 ลำ การบินไทยยังสามารถซื้อเงินสดได้ อีกด้วย เพราะว่าการจัดหาเครื่องบินไม่ได้จ่ายทันที และเครื่องบินส่วนนี้จะทยอยเข้ามาเริ่มปี 2570-2573
นอกจากนี้การจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีซื้อเงินสด ก็ไม่แปลกเพราะสายการบินตะวันออกกลางก็ซื้อด้วยเงินสด อย่างไรก็ตาม คงต้องรอศึกษารูปแบบการจัดหาอย่างเหมาะสมก่อน ซึ่งระหว่างนี้ยังมีเวลา คาดว่าจะได้ความชัดเจนในรูปแบบและแนวทางของการจัดหาเครื่องบินในปี 2568
"การจัดหาเครื่องบินยืนยันว่าไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน และที่ผ่านมาในช่วงโควิดการบินไทยไม่เคยได้รับเงินจากรัฐบาลสักบาทเดียว ครั้งสุดท้ายที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลคือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จำนวน 7.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สายการบินญี่ปุ่นรัฐช่วยเหลือ 2 แสนล้านทำให้ฟื้นได้ แต่การบินไทยเราฟื้นด้วยตัวเอง มาจากความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน"
ด้านฟากผู้บริหารของการบินไทย “ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย ก็ออกมาตอกย้ำว่า การจัดหาเครื่องบินใหม่ยืนยันว่าโปร่งใส ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน รัฐไม่มีภาระ และไม่ต้องค้ำประกัน ดังนั้นการบินไทยอยากยืนยันกับประชาชนว่า การจัดหาเครื่องบินไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชน และเป็นความต้องการของบริษัทบนพื้นฐานธุรกิจโดยแท้ อีกทั้งการบินไทยยังศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อให้การจัดหาเครื่องบินครั้งนี้เป็นกระบวนการคัดเลือกและเจรจาที่ดีที่สุด
ส่วนที่มาของการเลือกทำข้อตกลงจัดหาเครื่องบินในตระกูลโบอิ้ง 787 เพราะปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานรุ่นนี้ให้บริการอยู่ในฝูงบินแล้ว อีกทั้งตลาดทั่วโลก ปัจจุบันยังนิยมใช้อากาศยานรุ่นโบอิ้ง 787 และแอร์บัส A350 ซึ่งขณะนี้การบินไทยก็มีแอร์บัส A350 ให้บริการและกำลังจะรับมอบเพิ่ม รวมประจำฝูงบินในปีนี้ 23 ลำ ดังนั้นมองว่าการจัดหาโบอิ้ง 787 มีความเหมาะสม ตลาดทั่วโลกนิยม และยังมีความคุ้มค่า เมื่อคำนวณต้นทุนรวมทั้งค่าบำรุง และอัตราการใช้น้ำมัน
นอกจากนั้นหากมองในมุมมองแนวโน้มของธุรกิจในปีนี้แล้ว ยังพบว่าจากการฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ คาดว่าจะมีสูงถึง 15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 13 ล้านคน
ขณะเดียวกันการบินไทยยังเพิ่มความถี่เส้นทางยอดนิยม อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ และเปิดเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางศักยภาพสูง อาทิ ออสโล มิลาน เพิร์ท และโคจิ ไว้รอ ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ คงเป็นเหตุที่เหมาะสมที่จะซัพพอร์ตการบินไทยในการจัดหาเครื่องบิน เพราะจะว่าไปสั่งวันนี้ก็ใช่ว่าจะได้เครื่องเลย ต้องรอ หรือหากไม่ซื้อตอนนี้จะรอซื้อตอนไหน..
แต่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งโดยเฉพาะฟากฝั่งของ “รัฐบาล” ก็มองว่า “การบินไทย” เร่งรัดการจัดหาเครื่องบินมากไป มีคำถามถึงขั้นที่ว่า ทำไมต้องซื้อเครื่องบินยี่ห้อเดียวกันทั้งฝูงบิน และเมื่อจะซื้อเครื่องบิน แผนกลยุทธ์ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน หรือแผนวิสาหกิจระยะยาว การบินไทยได้มีการวางแผนหรือไม่ หากจัดหามาแล้วจะนำไปบินเส้นทางบินใด หรือบริหารจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบที่เคยเป็นมา ซึ่งจากประเด็นและปัจจัยต่างๆ ได้มีเสียงแว่วลอยมาว่าทางฟากฝั่งรัฐบาล ...ได้มีการจัดเตรียมที่จะเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการชุดใหม่ ซึ่งก็คงต้องมาติดตามดูกันว่า จะเป็นจริงตามเสียงแว่วหรือไม่.. หรือยังมีปัญหาอะไรที่ยังไม่เคลียร์ คงคาใจกันอยู่
ขณะที่ฟากฝั่งการบินไทยเองก็ประกาศชัดว่า เป็นบริษัทเอกชนเต็มที่ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถบริหารจัดการบริษัทได้เอง ปลอดการเมือง รัฐบาลเข้าแทรกแซง....
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney