ถึงเวลา กนง.ลดดอกเบี้ย

Experts pool

Columnist

Tag

ถึงเวลา กนง.ลดดอกเบี้ย

Date Time: 16 ก.พ. 2567 18:06 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • จับกระแสหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50 % ต่อปี และในวันจันทร์ที่ 19 ก.พ.นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะประกาศตัวเลข GDP ปี 2566 เป็นตัวเลขสำคัญสำหรับทิศทางดอกเบี้ยไทยในระยะข้างหน้า

Latest


จับกระแสหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี มีเสียงส่วนน้อย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% 


กนง.เสียงแตกในรอบนี้ สัญญาณที่ส่งมาจากวงประชุม ให้น้ำหนักไปที่เสียงส่วนใหญ่ ที่เป็นตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ต่างมองว่าดอกเบี้ยที่ 2.50% ยังเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 


ที่สำคัญได้หาเหตุผลมาหักล้างต่อเสียงสนับสนุนให้ลดดอกเบี้ย ที่มองว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก และมีศักยภาพลดลง เงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกัน 4 เดือน แต่สิ่งที่นำมาหักล้าง กลับมีคำตอบว่า ในตะกร้าเงินเฟ้อ มีรายการสินค้า 75% ที่ราคาปรับขึ้นอยู่ และมีเพียง 25% ที่ปรับลดลง แสดงให้เห็นว่า “ถ้าคนไม่มีเงินจริง ต้องไม่ซื้ออะไรสักอย่าง” 


หากให้บรรดาผู้บริหาระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ ช่วยวิเคราะห์สัญญาณของ กนง. พร้อมกับอ่านใจ กนง. รอบต่อไปในวันที่ 10 เม.ย. 2567 ปรากฏว่า เสียงของนายแบงก์ส่วนใหญ่เชื่อว่า “กนง.ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% หรือปรับลดจาก 2.50% เหลือ 2.25%”


เหตุรองรับการปรับลดดอกเบี้ย มาจากเศรษฐกิจไม่ดี มีอัตราการชะลอตัวแรง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2567 ประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2566 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศในวันที่ 19 ก.พ.2567 ตัวเลขจริงจะต่ำกว่าที่บรรดาสำนักวิจัยเศรษฐกิจทั้งหลายคาดการณ์ และเป็นที่มาของการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2567


ปัจจัยที่ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจ หลักๆ มาจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าออกไป ทำให้รัฐไม่มีงบลงทุนมาช่วยขับเคลื่อน แต่ยังดีเศรษฐกิจได้รับการประคับประคองจาการท่องเที่ยวฟื้นตัว ช่วยให้ภาคบริการดีขึ้น และราคาพืชผลการเกษตรหลักๆ ปรับตัวสูงขึ้น ก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร


“รายได้จากภาคท่องเที่ยว หากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องกระจายตัวและมีอัตราเร่งมากกว่าปัจจุบัน ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรที่ดีขึ้น เกษตรกรยังต้องเก็บเงินไว้ลงทุนการเพาะปลูกในรอบหน้า และหากราคายังดีต่อเนื่อง เมื่อมีกำไรมีเงินเก็บ นำไปใช้จ่ายซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” 


ที่สำคัญแบงก์ชาติวิเคราะห์ได้จากข้อมูลสินเชื่อ ที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงได้มาก หากเศรษฐกิจดีคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็นำมาชำระหนี้ หรือผ่อนค่างวด หนี้เสียของสถาบันการเงินต้องไม่เพิ่มขึ้น หรือเมื่อความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ยอดอนุมัติยอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น


แต่แบงก์ชาติได้ส่งสัญญาณ และรับรู้ว่า ผู้กู้เงินส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลกลุ่มลูกค้าที่เปราะบาง

เพียงแต่การคงอัตราดอกเบี้ย ต้องบริหารจัดการค่าเงินบาท และกระแสเงินทุนไหลออก ตามทฤษฎีแล้วหากลดดอกเบี้ย เงินลงทุนต่างชาติไหลออกไปหากผลตอบแทนที่สูง และทำเงินบาทอ่อนค่าลง แต่สถานการณ์ของประเทศไทยต่างกันสิ้นเชิง 


เห็นได้จาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ย นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึง 15 ก.พ. 2567 ต่างชาติขายสุทธิไปแล้ว 31,900 ล้านบาท หากดูยอดสะสมย้อนหลัง 1 ปี นักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นไทยสุทธิมากกว่า 2 แสนล้านบาท


อีกทั้งดัชนีตลาดหุ้นไทยวิ่งสวนต่างกับตลาดหุ้นโลก เรียกได้ว่าเมื่อมีข่าวดีดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นทำนิวไฮใหม่ แต่ดัชนีหุ้นไทยกลับปรับลดลง หรือยังย่ำอยู่กับที่

และอีกเหตุผลที่สำคัญ แบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ การที่นายกรัฐมนตรี จะออกมาชี้นำให้ลดดอกเบี้ย ยิ่งทำให้บรรดาตัวแทน กนง.จากฝั่งแบงก์ชาติ วิตกกังวลว่าหากลดดอกเบี้ยทันที ภาพที่นักลงทุนและต่างชาติมองว่า ไม่อิสระจริง ยอมให้รัฐบาลแทรกแซง

เพื่อหาทางลงแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น กนง.ขอดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ชัดเจนก่อนตัดสินใจ สุดท้ายแล้วต้องปรับลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไม่ดีจริงๆ

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ประพัฒน์ เนตรอัมพร

ประพัฒน์ เนตรอัมพร
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ