ดอกเบี้ยมีโอกาสลดไหม ในปี 2567?

Experts pool

Columnist

Tag

ดอกเบี้ยมีโอกาสลดไหม ในปี 2567?

Date Time: 26 ม.ค. 2567 18:28 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ในทางเศรษฐกิจ ประเด็นร้อนแรงที่สุด ในเดือนมกราคมที่กำลังจะผ่านไป ก็คือ แรงกดดันทั้งจากสังคม และโดยเฉพาะจากรัฐบาล ที่ขอให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์ที่ 2.5% ต่อปี ลงมา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อโดยรวมของปี 2566 ไม่ได้สูงอย่างที่ ธปท.คาดไว้ และจุดแรกที่ต้องจับตา ก็คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ครั้งแรกของปีในวันที่ 7 ก.พ.นี้

Latest


อีกไม่กี่วัน เราก็จะจบเดือนมกราคม ปี 2567 เดือนที่หลายคนมองว่า ยาวนานเหมือนมี 8 สัปดาห์ เพราะมีเรื่องราวมากมายเข้ามาวุ่นวายในชีวิต ขณะที่เงินในกระเป๋าก็ร่อยหรอรอวันเงินเดือนออก

ในทางเศรษฐกิจ ประเด็นร้อนแรงที่สุด ในเดือนมกราคมที่กำลังจะผ่านไป ก็คือ แรงกดดันทั้งจากสังคม และโดยเฉพาะจากรัฐบาล ที่ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์ที่ 2.5% ต่อปี ลงมา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อโดยรวมของปี 2566 ไม่ได้สูงอย่างที่ ธปท.คาดไว้

นอกจากนั้น ขอให้เร่งดูแลธนาคารพาณิชย์ ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมากในขณะนี้ลง และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้น เพื่อช่วยลดภาระการผ่อนส่งหนี้ของคนไทย และเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนให้สูงขึ้น

และกลายเป็นประเด็นต่อเนื่อง ถึงข้อสงสัยต่อการประมาณการเศรษฐกิจไทยของ ธปท. ที่ผิดคาดไปอย่างมาก โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ไม่สอดคล้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจจริง เพราะในการประมาณการครั้งแรกของปี ในเดือน ม.ค. 2566 นั้น ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6% แต่ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตได้เพียง 1.8% เท่านั้น

ถือเป็นตัวเลขที่ “หักปากกาเซียน” แทบทุกสำนัก เพราะในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา องค์กรที่ทำบทวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจแทบทุกแห่ง ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ต่างมองเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 3-4% จากระยะเดียวกันปีก่อน

แต่ได้มีการปรับลดประมาณการลงมาเรื่อยๆ ในระหว่างปีจากปัจจัยลบต่างๆ  จนประมาณการล่าสุดคาดว่า จะโตได้ประมาณ 2.4-2.5% ในช่วงเดือน ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา

และหากการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ตามจริง ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ตามปกติจะประกาศในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นไปตามตัวเลขที่ สศค.คาดไว้ ถือว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรทำได้มากจนน่าตกใจ

แม้ว่า ความถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจจะไม่ได้มาจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากแรงกระตุ้นของภาครัฐที่ขาดหายไปหลายเดือนในช่วงที่ไม่มีรัฐบาลทำงาน ไม่มีการลงทุนใหม่ที่มากพอทั้งจากภาครัฐและเอกชน และจากการส่งออกที่ชะลอลง ผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ใน “โลกเก่า” ทั้งอุตสาหกรรมยุคเก่า และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสังคมสูงวัย

แต่หลายคนกังวลว่า  หากปล่อยให้เศรษฐกิจโตไปแบบนี้ โดยไม่ได้รับแรงกระตุ้นระยะสั้นที่แรงพอ พร้อมกับการปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เร็วพอ เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้แค่ “โตช้า” กว่าประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่มีความเสี่ยงเข้าสู่วัฏจักรของ “ความซบเซาต่อเนื่อง” หรือการเติบโตต่ำๆ ของเศรษฐกิจที่ยาวนาน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจโตต่ำมายาวนานเป็นสิบปี

เพราะแม้วันนี้ หลายค่ายจะประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไว้สูงถึง 3.5-4.5% แต่เมื่อแรงส่งจริงที่ต่ำกว่าคาดมากในปี 2566 ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่อาจจะไม่ได้ดีมากอย่างที่คิด ทั้งภาคการส่งออก และท่องเที่ยว ทำให้ทุกค่ายเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงอย่างพร้อมเพรียงกัน

แน่นอนว่า รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องการที่จะเร่งรัดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม เพื่อจัมพ์สตาร์ต ยกระดับเพดานบินของเศรษฐกิจไทยให้ติดลมบน แต่ยังติดขัดที่โครงการเรือธง อย่าง การแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต มีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันมากมายอีกหลายเรื่อง และคาดว่า ยังไม่สามารถออกใช้ได้ในครึ่งปีแรก ขณะที่โครงการ Easy E-Receipt เริ่มมีคนใช้มากขึ้น แต่ก็มีเสียงบ่นในการขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมที่ออกแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการที่ออกมาแล้วในหลายๆ เรื่อง เช่น การให้เงินเกษตรกร และการพักหนี้  ต้องดูกันว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

กลับมาที่ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” หรือนโยบายการเงินในปีนี้ เมื่อแรงส่งทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลดต่ำลงกว่าคาดมาก โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ถูกเลื่อนเวลาออกไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในปี 2566 และปี 2567 ไม่ได้สูงอย่างที่คาดไว้ โดยในปี 2566 ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปีอยู่ที่ 1.3% เท่านั้น ขณะที่ในปี 2567 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมระดับหนึ่ง

อีกทั้งเศรษฐกิจปี 2567 มีทิศทางที่จะไม่เร่งตัวอย่างที่คาดไว้ โอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้มีหรือไม่นั้น 

จากการสอบถาม “ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน” และความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มั่นใจว่า อย่างน้อยที่สุด ในปีนี้ กนง.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้รัฐบาลจะออกโครงการดิจิทัล วอลเล็ตออกมาในปีนี้ ก็จะไม่กระทบให้เกิดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อีกแล้ว

เหตุผลหลัก น่าจะมาจากการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศโดยรวมที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงนั้น เป็นเพราะผลของการตรึงราคาค่าไฟ ราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ถ้ารัฐอั้นไม่ไหวเมื่อไร เงินเฟ้อจะพุ่งพรวดพราด

ขณะเดียวกัน หากมองทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก ประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ยังอยู่ในทิศทางของการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงไว้ เพื่อรอดูทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

หากถามว่า จะมีปัจจัยให้เกิดโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้หรือไม่นั้น  คำตอบจากการสอบถาม พบว่า “โอกาสยังไม่ปิดเสียทีเดียว” โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง มองว่า มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง หรือ อย่างมาก 2 ครั้งในปีนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากมีบางทฤษฎีที่ระบุไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรอยู่ที่ 2%

โดยปัจจัยสำคัญที่จะต้องติดตาม ก็คือ ส่วนแรกที่สำคัญ คือภาคการส่งออกของปีนี้ ซึ่ง ธปท.คาดว่าจะเข้ามาเป็น “ตัวนำ” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น และทดแทน ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ดีเท่าที่คิด แต่แนวโน้มล่าสุด เริ่มมีการมองว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะไม่ได้โตดีอย่างที่คิดไว้  และจุดสำคัญ คือ เศรษฐกิจจีน ที่หากไม่สามารถประคองตัวอยู่ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกตูมตามขึ้นมา ความต้องการซื้อสินค้าทั่วโลกอาจจะลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ลดทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของคนไทยในปีนี้ลงมากเช่นกัน

และการที่เศรษฐกิจโลกชะลอลงแรงกว่าที่คิด ยังมีผลดีอีกอย่างหนึ่งคือ จะเป็นแรงกดดันต่อราคาพลังงานโลกให้ปรับลดลงตามด้วย เพราะมองว่าอุปสงค์น้ำมันโดยรวมของโลกในปีนี้จะไม่ได้มากอย่างที่คาดไว้

นอกจากนั้น สำหรับปัจจัยในประเทศ คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ที่อาจจะมีความเสี่ยงในด้านต่ำมากขึ้น จากแรงส่งของเศรษฐกิจในปี 2566 ซึ่งขยายตัวต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2567 รวมทั้งการคาดการณ์กำลังซื้อที่อาจจะต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีการคาดกันว่า “อัตราเงินเฟ้อ” อาจจะไม่มีโอกาสสูงขึ้นรุนแรงอย่างที่กังวลกัน เพราะภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา” ทำให้หลายคนเชื่อว่า จะมีการดิ้นรนเพื่อต่อมาตรการตรึงราคาพลังงานและราคาอาหารไว้จนสุดกำลัง

ส่วนสุดท้าย สิ่งที่ กนง.แสดงความเป็นห่วงมาตลอด คือ การเทเม็ดเงินใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งหากเม็ดเงินลงแรง ลงเร็ว และได้ผลให้เงินหมุนได้หลายรอบตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ย่อมจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะส่งผลต่อความคาดหวังของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้โอกาสนี้ในการ “ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ” ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงมาระยะหนึ่ง จนกลายเป็น “เงินเฟ้อ” รอบสองที่ควบคุมยากขึ้น

แต่หลังจากการปรับเปลี่ยนวิธีการ กลุ่มเป้าหมาย และวงเงินของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ผลอาจจะไม่ได้แรงและเร็ว แบบสึนามิอย่างที่คาดไว้แต่แรก ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เป็นโอกาสให้ กนง.สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นได้

แต่ทั้งหมดทั้งปวงจะเป็นอย่างไร จุดแรกที่ต้องจับตา ก็คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) ครั้งแรกของปีในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ว่า หลังจากที่ประชุมกันแล้ว การแถลงข่าว และเนื้อหาในเอกสารผลการประชุมนโยบายการเงินมีส่งสัญญาณอย่างไร โอกาสที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสหรือไม่ในปี 2567

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ประอร นพคุณ

ประอร นพคุณ
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ