ปลดล็อกเกษียณโรงงานญี่ปุ่น 55 ปี แก้ “จน” ยาม “แก่” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

Experts pool

Columnist

Tag

ปลดล็อกเกษียณโรงงานญี่ปุ่น 55 ปี แก้ “จน” ยาม “แก่” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

Date Time: 12 ม.ค. 2567 19:15 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ระหว่างรอความคืบหน้าของ พ.ร.บ.กู้ 500,000 ล้านบาทในโครงการดิจิทัล วอลเลต ที่มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไทยครั้งใหญ่ มีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับทางรัฐบาลว่า เพียงแค่การปลดล็อกการเกษียณอายุของพนักงานบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ระบุไว้ 55 ปี ออกไปให้เท่ากับการเกษียณอายุทั้งภาคเอกชน ราชการไทย ที่กำหนดไว้ 60 ปี ก็ช่วยได้

Latest


การออก พ.ร.บ.กู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาทของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ยังคงเป็นประเด็นโต้แย้งว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ เพื่อเป็นเหตุผลความชอบธรรมทางกฎหมายเพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเลต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศครั้งใหญ่ ด้วยการมองถึงอัตราหมุนของเงิน (Velocity of Money) ที่จะถูกนำไปซื้อสินค้าและบริการไปหลายทอด ยิ่งหมุนมากจะเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวมาก จะช่วยให้อัตราเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ในระดับสูงตามเป้าหมายของรัฐบาล

มีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับทางรัฐบาลที่ต้องการเม็ดเงินเพื่อหมุนเข้าไปในระบบ โดยไม่ต้องหางบประมาณเข้าไปอัดฉีดในระบบ เพียงแค่การปลดล็อกการเกษียณอายุของพนักงานบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่ระบุไว้ 55 ปี ออกไปให้เท่ากับการเกษียณอายุในประเทศไทย ที่ปกติทั้งภาคเอกชน ราชการไทย กำหนดไว้ที่ 60 ปี

คงจะมีคำถามว่าสองเรื่องนี้มันเกี่ยวพันกันอย่างไร 

คำตอบคือมันเกี่ยวพันกันชนิดที่คาดไม่ถึง ว่าหากรัฐบาลหันมามองตรงจุดนี้ จะมีเงินเติมเข้าไปในระบบปีละจำนวนหลายแสนล้านบาท ยิ่งหากเศรษฐกิจดีมากขึ้น Velocity of Money อาจจะเติมเข้าไปถึงปีละ 1 ล้านล้านบาทได้ 


อีกทั้งยังเป็นการลดภาระของรัฐบาลที่จะเข้าไปดูแลกลุ่มคนเกษียณอายุเหล่านี้ถึงปีละเกือบ 2 ล้านคน


วิสูตร พันธวุฒิยานนท์ ประธานบริหาร บริษัท เอชอาร์. ไดเจสท์ จำกัด และนายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน ผู้คลุกคลีกับโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไทย ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ทุนญี่ปุ่นได้เริ่มเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ได้ยึดหลักกฎหมายการว่าจ้างของเอกชนญี่ปุ่นที่กำหนดการเกษียณอายุไว้ที่ 55 ปี จนถึงปัจจุบันสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็ยังยึดถือบังคับใช้ในประเทศไทย


ทำให้บรรดาแรงงานไทยที่ทำงานในอุตสาหกรรมในโรงงานญี่ปุ่นทั่วประเทศเมื่อถึงอายุครบ 55 ปี ต้องเกษียณอายุออกไป ซึ่งในยุคปัจจุบันแรงงานในระดับอายุนี้ ยังสามารถทำงานเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวต่อไปได้อีกหลายปี จึงอยากนำเสนอให้ทางภาครัฐออกมาแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว ให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวเกษียณอายุที่ 60 ปี เหมือนภาคเอกชนและราชการของประเทศไทย


วิสูตร ระบุว่า ในสมัยก่อนลูกจ้างอยากได้รางวัลบำเหน็จหลังเกษียณ เพราะได้เงินก้อนประมาณแสนกว่าบาท แต่ในยุคนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เงินก้อนดังกล่าวไม่พอสำหรับการดำรงชีพ ต้องไปเป็นภาระลูกหลานและเป็นภาระรัฐบาลที่ต้องดูแล ขณะที่ประเทศต้องประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเข้ามา

วิสูตร พันธวุฒิยานนท์ ประธานบริหาร บริษัทเอชอาร์. ไดเจสท์ จำกัดและนายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน
วิสูตร พันธวุฒิยานนท์ ประธานบริหาร บริษัทเอชอาร์. ไดเจสท์ จำกัดและนายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน

“การปลดล็อกดังกล่าวจะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ในหลายมิติ ในยุคสมัยที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาวะการมีงานทำเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นคนในวัยนี้จึงไม่อยากเป็นภาระให้ลูกหลานดูแล ไม่อยากเป็นภาระรัฐบาลที่ต้องดูแลหลังเกษียณ ที่สำคัญกลุ่มลูกจ้างในวัยนี้มีรอยัลตี้ต่อสถานที่ทำงาน ไม่เข้าๆ ออกๆ งานเหมือนกลุ่มคนหนุ่มสาว เพราะออกไปก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ ตั้งใจทำงานดีกว่า”

วิสูตร กล่าวว่า ประเมินคร่าวๆ ของแรงงานลูกจ้างของโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย หากรัฐบาลปลดล็อกแล้วคนหนึ่งจะทำงานต่อไปได้อีก 5 ปี จะมีรายได้เฉลี่ยคนละ 15,000 บาทต่อเดือน ปีละ 180,000 บาท ทั้งระบบคิดเป็นรายได้รวมประมาณปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากลูกจ้างแรงงานกลุ่มนี้นำเงินไปซื้อสินค้าและบริการ จะหมุนเข้าไปในระบบอีกหลายต่อ น่าจะเป็นอีกเครื่องยนต์หนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องอีดฉัดงบประมาณ ไม่ต้องวิ่งหาเงินกู้เข้ามาอัดฉีดในระบบ หรือแม้กระทั่งการเติมเงินเข้าไปในดิจิทัล วอลเล็ตด้วยซ้ำ 


“ในปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นมีเพียงโตโยต้าเพียงค่ายเดียวเท่านั้น ที่ขยับให้ลูกจ้างแรงงานของบริษัทเกษียณอายุที่ 58 ปี ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็มีบ้าง เพียงแค่ต่ออายุปีต่อปีหลังเกษียณที่อายุ 55 ปีเท่านั้น สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากประเทศอื่นในไทย เช่น จีน ให้มีการเกษียณที่ 60 ปี หรือโรงงานของกลุ่มนักลงทุนไทยของเจ้าสัวหลายๆ คน กำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปีทั้งนั้น มีเพียงบริษัทญี่ปุ่นเพียงชาติเดียวเท่านั้น รัฐบาลสามารถปลดล็อกได้ด้วยการออก พ.ร.บ.ให้เกษียณอายุที่ 60 ปีเหมือนกันหมด” วิสูตร กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อมองกลับไปยังญี่ปุ่น ประเทศที่มีอัตราค่าครองชีพสูง เข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มที่ รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายเสถียรภาพการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอายุกว่า 50 ปี ด้วยการขยายอายุเกษียณของพนักงานบริษัทเอกชนออกไปถึง 70 ปี หรือประเทศฝรั่งเศสได้แก้กฎหมายเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี หรือแม้กระทั่งประเทศเวียดนามคู่แข่งสำคัญ เตรียมขยับออกไปที่ 62 ปี เป็นต้น เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ดังนั้นในประเทศไทยควรจะปลดล็อกแรงงานอายุเกษียณที่ 55 ปี ของโรงงานญี่ปุ่นในไทยก่อน ขยายเวลาออกไปเป็น 60 ปี แก้จนยามแก่ อีกทั้งลูกหลานไม่ต้องห่วง รัฐบาลไม่ต้องดูแล แถมยังมีกำลังซื้ออัดฉีดเข้าไปในระบบยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม

ขณะที่ผ่านมาก็มีการหยิบยกการเพิ่มอายุเกษียณโดยรวมออกไป แต่ก็ไปไม่ถึงไหนกัน ตามกฎหมายไทย อายุเกษียณหากเริ่มนับจากอายุปกติที่มีสิทธิรับบำนาญ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 60 ปี เป็นอายุเกษียณของข้าราชการเมื่อตั้งแต่ปี 2494 จากนั้นบำนาญอื่นที่พัฒนาขึ้นภายหลัง ยึดอายุดังกล่าวเป็นอายุเกษียณเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, กองทุนการออมแห่งชาติ, และค่าชดเชย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 

ส่วนอายุเกษียณ 55 ปี เริ่มใช้ในระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2542 ที่ผ่านมา มีสิทธิเบิกบำนาญจากกองทุนประกันสังคมได้ 

ที่ผ่านมามีการเก็บตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า คนไทยมีอายุยืนขึ้นมาก หากจะเทียบกับสมัยก่อน โดยในปี 2493 หรือ 70 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 43 ปี และมีอายุยืนเฉลี่ยที่ 79 ปี ในปี 2564 ที่ผ่านมา 

อีกทั้งยังคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2593 อายุจะยืนขึ้นเป็น 85 ปี แนวโน้มคนไทยอายุยืนขึ้น สวนทางกับอายุเกษียณเท่าเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ 

จึงมีประโยคที่คนนิยมพูดกัน แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ ...น่าเสียดาย ถ้าตายแล้วใช้เงินไม่หมด แต่น่าสลด ถ้าใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย!!!


Author

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ