เศรษฐกิจและการลงทุนโลก และไทย ในปี 2024

Experts pool

Columnist

Tag

เศรษฐกิจและการลงทุนโลก และไทย ในปี 2024

Date Time: 5 ม.ค. 2567 17:11 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Latest


แม้ภาพของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ โดยในสหรัฐฯ ตัวเลข GDP เบื้องต้น ในไตรมาส 3/2023 ขยายตัวถึง 4.9% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนทรงตัว (ขยายตัว 0.1% ต่อปี แต่หดตัว -0.1% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) ด้านเศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวเกินคาดที่ 4.9% ต่อปี 


แต่มองลึกลงไปตัวเลขเหล่านี้ "ดีเกินไป" เพราะไส้ในรวมถึงแนวโน้มจากปัจจัยต่างๆ บ่งชี้ความเสี่ยงทั้งสิ้น โดยในสหรัฐฯ ความเสี่ยงสูงสุดมาจากดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่สูงยาวนาน (Higher for long) ที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงบ้างหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ รวมถึงส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ในปี 2024 (หรือที่เรียกว่า Fed Pivot) แต่ก็จะยังอยู่ในระดับสูง และจะกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น 


ในยุโรป ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหลายบ่งชี้ในทิศทางหดตัว ท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่สูงกว่าเงินเฟ้อ ในจีน เศรษฐกิจเติบโตได้เพราะผลการกระตุ้นจากภาครัฐ ทำให้ Credit intensity หรืออัตราการเติบโตของสินเชื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ขยายตัวรุนแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2020 แต่ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด รวมถึงวิกฤติอสังหาฯ ก็ยังคงอยู่ และจะเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจจีนในระยะยาว 


โดยในประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันเรามองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมี 3 จุดเปราะบาง กล่าวคือ (1) เศรษฐกิจไม่ได้แข็งแกร่งมากตามที่ตัวเลขประกาศ (2) ความเสี่ยงเงินเฟ้อไม่ได้หายไปตามที่ Fed คาด และ (3) ความเสี่ยงภาคการเงินยังมีอยู่ หลังจากสถานการณ์ Inverted Yield Curve ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง 


ในประเด็นด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังดูแข็งแกร่ง เห็นได้จากทั้งการจ้างงาน ยอดค้าปลีก รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ดูดีเกินคาด แต่หากพิจารณาไส้ใน จะเห็นว่าตัวเลขที่ดีนั้นยังมีจุดเปราะบาง โดยด้านการบริโภคจะเห็นว่าตัวเลขยอดค้าปลีกที่ดีนั้นส่วนใหญ่เป็นตัวเลขจากการซื้อของออนไลน์ (โดยเฉพาะของขวัญ) ที่มีส่วนลดมากกว่าร้านค้าทั่วไป ขณะที่ยอดขายในห้างสรรพสินค้าตกต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 


ขณะที่ในส่วนตลาดแรงงาน โดยการจ้างงานเดือนล่าสุด แม้ปรับตัวดีเกินคาด แต่ก็เป็นเพราะการกลับมาทำงานของแรงงานภาคยานยนต์หลังการประท้วงสิ้นสุดลง ขณะที่ภาคสาธารณสุข และรัฐบาลจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ภาคค้าปลีกและการจ้างงานชั่วคราวลดลง บ่งชี้ถึงแรงงานระดับล่างที่เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนั้นตำแหน่งงานที่เปิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้ว่างงานเหลือแค่ประมาณ 1.2 เท่า จากประมาณ 2.0 เท่าเมื่อปีก่อน บ่งชี้ว่านายจ้างเริ่มจะปรับลดคนงานมากขึ้นหากเศรษฐกิจมีปัญหา 


ในประเด็นเงินเฟ้อเรามองว่าน่าจะลดลงได้ยากมากขึ้น โดยเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน พ.ย.นั้น แม้ว่าจะลดลงต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนพบว่าเพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนั้นในองค์ประกอบเงินเฟ้อยังพบว่าเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ หรือ Demand side (อันได้แก่ ค่าเช่า และค่าจ้าง) ลดลงได้ยากมากขึ้น โดยอยู่ที่ประมาณ 2.5% ในเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.1% 


ในส่วนสุดท้าย ในประเด็นด้านตลาดการเงิน มี 2 จุดที่ต้องจับตา คือ (1) ผลตอบแทนพันธบัตร ที่แม้ปรับตัวลดลงมากหลังการส่งสัญญาณนโยบายการเงินกลับทิศ (Fed Pivot) แต่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น เช่น 2 ปี ยังอยู่ระดับสูงที่ประมาณ 4.4% ขณะที่ระยะยาว เช่น 10 ปี อยู่ระดับต่ำกว่าที่ 3.9% ทำให้ส่วนต่างยังคงติดลบที่กว่า 50 bps ก็จะยังคงเป็นปัญหากับภาคการเงิน เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการเงินสูง (ที่ผูกติดกับดอกเบี้ยระยะสั้น) สูงกว่ารายได้ที่ได้จากดอกเบี้ย (ที่ผูกติดกับดอกเบี้ยระยะยาว)


และ (2) กระแส Risk on ที่กลับมารุนแรงขึ้น ผลจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่ลดลงสืบเนื่องมาจากการที่ตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นขาลงในปีหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะ Soft landing ซึ่งอาจทำให้การลงทุนบางสินทรัพย์ที่ในปัจจุบันเกินปัจจัยพื้นฐานอาจยิ่งประสบสภาวะฟองสบู่ได้มากขึ้น เช่น หุ้นสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยหุ้น 7 ตัวหลัก (หรือที่เรียกว่า Magnificent 7 ซึ่งได้แก่ Microsoft, Apple, Nvidia, Amazon, Meta Platforms, Tesla และ Alphabet) ซึ่งหากสถานการณ์เกิดกลับทิศ เช่น เงินเฟ้อไม่ได้ลงดังคาด หรือความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น หุ้นทั้ง 7 อาจปรับตัวลงรุนแรงได้ 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2024 เรามีมุมมองเศรษฐกิจไทยเป็น 2 กรณีขึ้นอยู่กับมาตรการ digital wallet เป็นหลัก โดยหากมาตรการผ่านตามที่นายกฯ ประกาศในวันที่ 10 พ.ย. เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.1% แต่หากมาตรการไม่ผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% 


อย่างไรก็ตาม เรามองว่า (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเปิด Room ที่จะลงดอกเบี้ยมากขึ้น โดยในการประชุม Monetary Policy Forum 4/2023 ผู้บริหาร ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว และในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่การส่งออกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงทั้งในแง่บวกและลบ ทำให้นโยบายการเงินอาจเริ่มมี Room ในการสนับสนุนเศรษฐกิจได้ 

(2) อาจมีโอกาสที่จะมีนโยบายการคลังแบบขยายตัวได้ นอกจากนั้น การบริหารจัดการแก้หนี้ในระบบและนอกระบบของรัฐบาล จะสามารถช่วยปลดล๊อคให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีวงเงินมาบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลและธุรกิจของตนได้บ้าง โดยการคำนวณเบื้องต้นของเราพบว่า จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% จากกรณีฐาน  

(3) ธปท. ยังมีมุมมองเงินเฟ้อแบบสมดุล (คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2024 ที่ 2%) ในขณะที่เราเห็นความเสี่ยงด้านลบมากขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อไทยที่เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับจีน และมีโอกาสที่จะหดตัวได้อีกในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ 


ด้วยภาพเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น (เราคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2023 ขยายตัวที่ 2.5% และปี 2024 ขยายตัวที่ 3.2%) ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับต่ำ และทำให้มี room สำหรับนโยบายการเงิน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้การลงทุนในตลาดทุนไทยในปี 2024 น่าสนใจ เราจึงมีคำแนะนำในการลงทุนใน 3 กลยุทธ์หลักดังนี้ 


1) หุ้น Big Cap. (SET50) ที่คาดเป็นเป้าหมายการลงทุนจากแผนจัดตั้งกองทุน TESG ซึ่งเราได้คัดเลือก หุ้นที่อยู่ในดัชนี SETESG ที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ ดังนี้ (1.1) ได้ ESG Rating ตั้งแต่ “A”-“AAA” และราคาหุ้นปรับตัว ลงแรงกว่า SET YTD เลือก OR HMPRO AOT หรือ (1.2) ได้ ESG Rating “AAA” และราคาหุ้นปรับนขึ้นดีกว่าดัชนี SET ในปีที่ผ่านมา อีกทั้งผลดำเนินงานแข็งแกร่ง และคาดให้ Div. Yield สูงกว่าปีละ 5% เลือก PTT KTB 


2) นักลงทุนระยะยาวแนะนำการลงทุนแบบ Dollar-Cost-Average (DCA) หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยง ลดลงไปมากและราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL BDMS BEM CPALL PTT และ SCC ซึ่งเป็นหุ้น SET100 ซึ่งเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และมี ESG Rating ระดับ AAA/AA, Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยใน รอบ 10 ปี และผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง และ 


3) 10 Top Picks in Yearbook 2024 ซึ่งเน้นหุ้นที่คาดเติบโตได้ดี อีกทั้งหวังได้อานิสงส์บวกจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนใหม่ ได้แก่ AMATA BBL BEM BDMS CPALL CRC GULF OR SCC SCGP.