รู้หรือยัง? ใช้รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย-ข้ามสายทาง ต้องทำอย่างไรบ้าง

Experts pool

Columnist

Tag

รู้หรือยัง? ใช้รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย-ข้ามสายทาง ต้องทำอย่างไรบ้าง

Date Time: 1 ธ.ค. 2566 17:46 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย เริ่มแล้ว สำหรับการโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง และต้องใช้บัตรแบบไหน ต้องทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้โดยสารต้องศึกษาวิธีการให้ละเอียด ส่วนอนาคตรถไฟฟ้าสีอื่นสายอื่นๆ จะปรับลดค่าโดยสารได้ไหม ยังเป็นคำถาม รอคำตอบอีกยาว

Latest


ภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมนำนโยบายเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย มาใช้กับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรังสิต และช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีตลิ่งชัน และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน สูงสุดสายละ 20 บาทนั้น พบว่าประชาชนสนใจและหันกลับมาใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางจำนวนมาก

จากเดิมมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่านรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงต่อวันที่ 21,632 คน ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 26,097 คนต่อวัน ซึ่งสูงขึ้นกว่า 20% จากการเดินทางเดิม

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ไม่น้อยหน้า เพิ่มขึ้นกว่า 13% จากเดิมปริมาณผู้โดยสารเดินทาง 59,000 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 64,000 คนต่อวัน ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวทางกระทรวงคมนาคมก็เล็งต่อ ถึงการกระตุ้นการเดินทางของประชาชนผ่านระบบรางที่ภาครัฐลงทุนไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นวันแรกที่กระทรวงคมนาคมนำนโยบายให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง และ สายสีแดง สามารถเดินทางข้ามสายทางกันได้ ในราคาโดยสาร 20 บาทตลอดสาย โดยไม่มีค่าแรกเข้า แต่ผู้โดยสารจะได้ราคาเดินทางนี้ จะต้องชำระเงินผ่าน บัตร EMV (Europay, MasterCard, VISA) หรือ บัตรเครดิต ของทุกธนาคาร

ส่วนใครที่ถือบัตร เอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต เฉพาะบัตรของธนาคาร ยูโอบี และธนาคารกรุงไทย เท่านั้น

แต่ทั้งนี้จะสามารถเปลี่ยนถ่ายข้ามสายทางระหว่างสายสีแดง กับ สายสีม่วง ได้เฉพาะสถานีบางซ่อน ของรถไฟฟ้าชานเมืองสีแดงเท่านั้น และการเข้าออก จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที ขณะที่การจ่ายเงินผ่านบัตรต้องเป็นบัตรใบเดียวกันในการชำระเงิน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด จะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท

ขณะเดียวกันผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตรไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน

หลายคนก็สงสัยอีกว่า..ทำไมถึงข้ามสายทางได้เฉพาะแค่รถไฟฟ้าสายสีแดง กับ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีบางซ่อนเท่านั้น รถไฟฟ้าหลากสี สายอื่นๆ ทำได้ไหม…

คำตอบคือ ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากนโยบายรัฐบาลเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย บังคับใช้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง เป็นรถไฟฟ้าที่กำกับอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง อยู่ในการกำกับของเอกชน ซึ่งมี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เป็นผู้รับสัมปทาน

ถามต่อว่า แล้วรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV (บัตรเครดิต) ของทุกธนาคาร หรือจะชำระผ่านเอทีเอ็ม เฉพาะบัตรของธนาคาร ยูโอบี และธนาคารกรุงไทยได้ไหม..ตอบเลยว่าได้ โดยปัจจุบันสายสีเหลืองให้บริการ เก็บค่าโดยสารที่ 15-45 บาท

ส่วนสายสีชมพูปัจจุบันนี้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรีถึง 2 ม.ค. 2567 และจะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่ 3 ม.ค. 2567 ในราคา 15-45 บาท ยกเว้น สายสีเขียว และสายสีทอง ที่บีทีเอส เป็นผู้รับสัมปทานจะใช้บัตรของตัวเอง

นอกจากนั้นที่ผู้โดยสารสงสัยกันว่า หากนั่งรถไฟฟ้าสีชมพู มาตัดกับสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีฯ หากผู้โดยสารจะเชื่อมต่อระบบระหว่างสี ทำได้หรือไม่ในราคา 20 บาทตลอดสาย

เรื่องนี้คลายข้อสงสัยเลยว่า ทำไม่ได้ในราคาค่าโดยสาร 20 บาท หากเปลี่ยนถ่ายระบบผู้โดยสารก็จะเสียค่าโดยสารตามปกติทันที ยกเว้นว่าเอกชนผู้ให้บริการจะเข้าร่วมกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเมื่อไหร่ หากเข้าร่วม การนำนโยบายข้ามสายทางมาใช้ก็จะเป็นจริงต่อมา ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เดินทางได้รับสะดวกและประหยัด เนื่องจากไม่มีค่าแรกเข้าอีก

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความพยายามในช่วงแรกของรัฐบาลที่จะปูทางสู่การให้บริการรถไฟฟ้า โดยใช้ตั๋วใบเดียวกันอย่างครบวงจร ซึ่งอาจจะตะกุกตะกัก ติดๆ ขัดๆ  ไปบ้าง เช่น สถานีที่ใช้บัตรได้ จำนวนสายทางที่ใช้ร่วมกันได้ ฯลฯ แต่ในอนาคตน่าจะดีขึ้นตามลำดับ

ขณะที่ราคาจะสามารถอยู่ที่ 20 บาท ตลอดสายได้จริงหรือไม่นั้น ยังเป็นคำถาม เพราะต้องมีการเชื่อมต่อกับภาคเอกชน ซึ่งคงต้องรอการดำเนินการในช่วงต่อไป!!!

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/ money/economics/world_econ 


Author

สุรางค์ อยู่แย้ม

สุรางค์ อยู่แย้ม
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ