หนัง-ซีรีส์ จุดกระแส Soft Power ในแดนมังกร

Experts pool

Columnist

Tag

หนัง-ซีรีส์ จุดกระแส Soft Power ในแดนมังกร

Date Time: 24 พ.ย. 2566 20:06 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • รัฐบาล “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี พยายามจุดพลุกระแส “Soft Power” (ซอฟต์พาวเวอร์) ของไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก!! เพื่อให้ “ความเป็นไทย” ไม่ว่าจะเป็นอาหาร กีฬา เทศกาล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เกม ศิลปะ การออกแบบ แฟชั่น แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมของผู้คนทั่วโลก นำมาซึ่งการขายสินค้าไทย การท่องเที่ยวไทย และสร้างรายได้ให้ประเทศ

Latest


ปัจจุบัน “ความเป็นไทย” ที่จุดกระแส Soft Power ในต่างประเทศได้ดี หนีไม่พ้น “อาหารไทย” ที่มีรสชาติหลากหลาย กินได้ไม่รู้เบื่อ มีผัก และสมุนไพร ที่ดีต่อสุขภาพ ดึงดูดผู้รักสุขภาพให้กินอาหารไทยมากขึ้น

ส่งผลให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารไทย เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง รวมไปถึงของใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งร้านหรือตกแต่งบ้านแบบไทยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ยังมีอย่างอื่นอีก ที่สร้าง Soft Power ไทยในต่างแดนได้ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ  “ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์” ที่ฮอตฮิตแถบเพื่อนบ้านมายาวนาน และขยายไปสู่ประเทศอื่นมากขึ้น ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป รัสเซีย รวมถึงฝั่งเอเชีย อย่างจีน ไต้หวัน ฯลฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ละครไทยฉายในจีนเป็นทางการครั้งแรกในปี 2546 คือเรื่อง “สาวใช้หัวใจชิคาโก้” แต่ไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่าละครเกาหลี ที่ช่วงนั้นมาแรงมาก

แต่เมื่อกระแสละครเกาหลีซาลงในช่วงปี 2552-2554 ละครไทยเข้ามาครองใจผู้ชมแทนที่ โดย “สงครามนางฟ้า” ได้รับความนิยมอย่างสูง และติด 10 อันดับแรกละครที่มีผู้ชมมากที่สุด

ถือเป็นจุดเปลี่ยนละครไทยในจีน มีการซื้อละครไทยมาฉายที่จีนจำนวนมาก เกิดการรวมกลุ่มของแฟนคลับ และนักแสดงไทยดังเป็นพลุแตก

จากนั้นในปี 2555 กระแสละครไทยลดลงฮวบฮาบ จากนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายใน และเพิ่มความเข้มงวดในการเซนเซอร์ มีการย้ายช่วงเวลาออกอากาศละครไทยไปหลังเที่ยงคืน รวมทั้งราคาละครไทยสูงขึ้น

แต่หลังการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ละครไทยกลับมานิยมอีกครั้งในปี 2561 เพราะผู้ชมสามารถรับชมผ่านออนไลน์ได้มากขึ้น และดูได้ทุกแนวโดยไม่ผ่านเซนเซอร์ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ผีและสิ่งเร้นลับ การสลับร่างหรือข้ามภพข้ามชาติ การเมือง และ LGBTQ+ หรือซีรีส์วาย (Y) ภาพยนตร์ และซีรีส์วายไทยที่ปลุกกระแสคู่จิ้นชายรักชาย (Boy’s Love) คือ “รักแห่งสยาม” และ “Hormones วัยว้าวุ่น” แต่เรื่องที่มียอดเข้าชมสูงและถูกพูดถึงมาก ได้แก่ “เด็กใหม่ The Series” “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” “Full House วุ่นนักรักเต็มบ้าน” “หัวใจศิลา” “เกมเสน่หา” “คลื่นชีวิต” “I Wanna Be Sup’Tar วันหนึ่งจะเป็นซุปตาร์” “หลงไฟ” และ “บุพเพสันนิวาส”

ส่งผลให้ชาวจีน “คลั่งรัก” วัฒนธรรมไทย ชุดไทย ชุดนักเรียนไทย อาหารและขนมไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงมาเที่ยวเมืองไทยตามรอยสถานที่ถ่ายทำในละคร

สำหรับภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมในจีน มี 3 แนว ได้แก่ สยองขวัญ จากความสำเร็จของ “นางนาก” แต่ที่ได้รับความนิยมตลอดกาล คือ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ”

แนวแอ็กชัน จากกระแสความนิยมของ “องค์บาก” ที่สร้างความตื่นเต้นใน “มวยไทย” และยังทำให้วัด ช้าง พระพุทธรูป และองค์ประกอบอื่นในภาพยนตร์ เป็นที่รู้จัก และเป็นภาพจำของชาวจีน

สุดท้ายแนวโรแมนติก และโรแมนติก คอมเมดี้ ที่ชาวจีนชื่นชอบ เช่น “แฟนฉัน” “รักแห่งสยาม” “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว” “สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก” “Friend Zone” “กวน มึน โฮ” “ATM เออรัก เออเร่อ” เป็นต้น

ส่วน “ฉลาดเกมส์โกง” ภาพยนตร์ “ม้ามืด” แนวอาชญากรรม เข้ามาเพิ่มสีสันภาพยนตร์ไทยในจีน โดยจีนซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายในแผ่นดินใหญ่ 16.5 ล้านบาท แต่ทำรายได้ทะลุ 675 ล้านบาทในเวลา 5 วัน

ขณะที่ฝั่งไต้หวัน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ มะนิลา (ส่วนที่ 2)  ระบุว่า ซีรีส์วาย และหนังผีไทยได้รับความนิยมมาก เช่น “นางนาก” “ลัดดาแลนด์” “ห้าแพร่ง” “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” เพราะไต้หวันมีเทศกาลเดือนผี ในเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งหนังผีไทยเข้าฉายเป็นประจำทุกปี

แต่มีเพียง 3 เรื่อง คือ “ฉลาดเกมส์โกง” “พี่มาก…พระโขนง” และ “แฝด” ที่ทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวันสูงสุด 3 อันดับแรก

ส่วนในปีนี้ มีทั้งภาพยนตร์โรแมนติก คอมเมดี้ เช่น “บุพเพสันนิวาส 2” “รักแรก โคตรลืมยาก” และ “เธอกับฉันกับฉัน” รวมถึงสยองขวัญ เช่น “ปลุกพยนต์” “บ้านเช่าบูชายัญ” เป็นต้น ที่ช่วยเสริมสร้างพลัง Soft Power ไทยในไต้หวันให้ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทยโด่งดังในจีน และไต้หวัน แต่ยังมีความท้าทาย ทั้งในเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน การแข่งขันของคู่แข่งจากจีน และประเทศอื่นๆ ที่รุนแรงมากขึ้น ความเบื่อหน่ายในพล็อตเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ การรับชมผ่านช่องทางผิดกฎหมาย และละเมิดลิขสิทธิ์ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้สร้างของไทย ต้องไม่หยุดพัฒนาการผลิตของตนเอง รวมถึงสำรวจความต้องการของผู้ชม และรูปแบบการรับชมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ไทย ยังคงครองใจผู้ชมไม่เสื่อมคลาย

และเป็น “Soft Power” ที่เปลี่ยนแปลงความคิด พฤติกรรมของผู้คนทั่วโลก กลายเป็นความ “คลั่งรัก” ไทย จนต้องกิน ต้องใช้ของไทย เที่ยวไทย และนำรายได้เข้าประเทศได้ตามเป้าหมายรัฐบาล!!

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ