ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงคำว่า ‘บล็อกเชน’ ยังดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มและไกลตัว เกินกว่าคนทั่วไปจะมารู้สึกว่าต้องสนใจอะไรกับมัน แต่พอมีนโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลเศรษฐาเกิดขึ้น ทุกองค์ประกอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันโดยปริยาย โดยเฉพาะเรื่อง บล็อกเชนนี่และ ที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยในการทำธุรกรรม Digital Money ที่ รัฐบาลจะมีการแจกเงินให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท
ในบทความนี้ผมขอแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในระบบการเงินในฐานะคนที่ทำ บล็อกเชน มานาน ว่าอยากจะบอกว่าการเอามาใช้เพื่อแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย ส่วนประเด็นที่ว่า ควรจะแจกเงินหรือไม่ ผมขอข้ามไปนะครับ แต่จะมาเล่าในประเด็นของเทคโนโลยีมากกว่า
ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของบล็อกเชน ให้เข้าใจกันก่อนว่า เทคโนโลยีนี้มีไว้ทำไม พูดง่ายๆ คือ เอามาใช้ทำธุรกรรมที่มีคนเขียนข้อมูลกันได้หลายๆ คน แต่ละคนไม่ได้ไว้ใจกันมาก หรือจะไม่ไว้ใจกันเลยก็ว่าได้ มารวมตัวกัน เพื่อจะให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ถ้าเอามาใช้แล้วให้รัฐบาลเป็นคนเขียนข้อมูลลงบนบล็อกเชนได้คนเดียว ตามที่มีการพูดถึง มันก็ผิดจุดประสงค์อย่างยิ่ง
ลองมาดูรายละเอียดกันครับ โดยตัวอย่างของผมจะเป็นระบบโอนเงินระหว่างธนาคาร
ลองสมมติว่า ธนาคาร 3 ธนาคาร ชื่อ Bank A, Bank B, Bank C บอกว่าอยากใช้บล็อกเชนทำระบบโอนเงิน ระหว่าง 3 ธนาคาร เขาก็ต้องมา ตั้งวง บล็อกเชน ร่วมกัน ทั้ง 3 ธนาคารจะต้องตั้ง Node บล็อกเชน ของตัวเอง แล้วทุกธนาคารก็มีสิทธิ์เขียนข้อมูลลงบน Node ของตัวเองได้
ใครเขียนอะไรไป ระบบบล็อกเชน ก็จะบอกทุกๆ คนที่อยู่ในวงเดียวกัน ว่ามีการเขียนข้อมูลแบบนี้ลงไป ให้ทุกๆ คนช่วยกันตรวจสอบได้ แล้วบันทึกข้อมูลแบบเดียวกันไว้หมด
Node แต่ละโหนด ทำหน้าที่เก็บรายการทางธุรกรรมต่างๆ ที่เขียนลงไปบนบล็อกเชน พูดอีกแง่มุมนึงคือมีสมุดบัญชี 3 เล่ม เก็บไว้ที่ธนาคารทั้ง 3 ธนาคาร ระบบมันก็จะออกมาเป็นทำนองนี้
ในสมุดบัญชีมันจะจดอะไรล่ะ
สมมติว่าธนาคาร A มีลูกค้าชื่อ กร ธนาคาร B มีลูกค้าชื่อขำ ธนาคาร C มีลูกค้าชื่อ แคท แล้ว กร ต้องการโอนเงิน 100 บาท ไปให้ แคท มันจะเกิดอะไรขึ้น
ขั้นแรกธนาคาร A ต้องตรวจดูก่อนว่า นายกร มีเงินพอไหม แล้วธนาคาร C มีลูกค้าชื่อแคทจริงไหม ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนั้น ธนาคาร A ก็เขียนข้อมูลลงไปใน บล็อกเชน ว่า ธนาคาร A โอนเงิน ให้ ธนาคาร c 100 บาท โดยเป็นการโอนเงินระหว่าง กรกับแคท ข้อมูลนั้น จะโดนส่งไปที่โหนดบล็อกเชนของธนาคาร b และ c ต่อมาถ้ามีการโอนเงินจากขำไปให้กร 20 บาท สมุดบัญชีที่เก็บไว้ทุกโหนดก็เป็นแบบนี้
สมมุติว่าธนาคาร A ปฏิเสธ ว่าเคยโอนเงินจากกรไปแคท หรือธนาคาร A บอกว่าโอนแค่ 30 บาท
ธนาคาร B ก็สามารถ เอาข้อมูลของตัวเอง และข้อมูลจากธนาคาร C มายืนยัน กับธนาคาร A ได้
หลายคนอาจจะถามว่าทำไมไม่ให้เอาเงินจากธนาคาร A มาให้ C เลย ตอนที่โอน มันก็ทำได้ครับ ถ้าเงินที่ติดกันระหว่าง A และ C เป็นเงินที่อยู่บนบล็อกเชนด้วย วิธีนี้ไม่ว่า A จะปฏิเสธการทำธุรกรรมอย่างไร ก็ไม่ค่อยมีผลเพราะว่า เงินมันจะโอนไปเรียบร้อยแล้ว เราเรียกมันว่า Gross Settlement
ส่วนเรื่องที่ว่า ทำไมเราสามารถแยกการโอน กับ settlement เป็นคนละเรื่องกันได้ ผมขอเอาไว้อธิบายในบทความอื่นๆ หลังจากนี้แทนนะครับ
ทีนี้สมมติว่า ทั้ง 3 ธนาคารบอกว่า เราตั้ง บริษัท X ขึ้นมาดีกว่า แล้วให้บริษัทนี้ เป็นคน Operate โหนด บล็อกเชน ทั้งหมด ธนาคารจะต่อกับบริษัท X ด้วยระบบ API Gateway ซึ่งเป็นประตูบ้านที่ให้บริการระหว่างบริษัท X กับธนาคาร หน้าตาของระบบมันก็จะออกมาเป็นทำนองนี้
ระบบนี้แปลว่าทั้ง 3 ธนาคาร เชื่อว่า X จะเขียนข้อมูลลงบน บล็อกเชน ตามที่ตัวเองบอก กรณีที่กรโอนเงินให้แคท แล้ว X ไม่ได้บันทึกไว้ หรือบันทึกเลขอื่นแทน ธนาคาร A และ C จะไปเถียงกับ X ยากมาก จะไปบอก X ให้เอาข้อมูลบนบล็อกเชนทั้ง 3 โหนดมาเทียบกันดู มันก็ควรจะตรงกัน เพราะ X เป็นคนเขียนข้อมูลนั้นเอง
ในทางปฏิบัติมันจะมีวิธีอื่นๆ ทางธุรกิจ ที่ทำให้ทั้ง 3 ธนาคารเชื่อได้ว่า X จะไม่เป็นผู้ร้าย หรือจะใช้เทคโนโลยีพวก digital signature มาช่วยก็ได้
ทีนี้ถ้า X บอกว่า ไหนๆ ธนาคาร A B C มีวิธีที่ทำให้ X โกงไม่ได้ และเชื่อใจเขาแล้ว X เปลี่ยนจากระบบ บล็อกเชน เป็นระบบอื่นได้ไหม แล้วเขาจะทำให้มันเร็วกว่าบล็อกเชนด้วย โดยระบบไม่สลับซับซ้อนเท่า บล็อกเชน มันก็ต้องเปลี่ยนได้สิ
ระบบนี้ผมขอเรียกว่าระบบกลาง หรือ centralized system ก็แล้วกัน หน้าตามันก็จะทำนองนี้
ที่พูดมาทั้งหมด คือจะบอกว่าถ้ามีตัวกลางเขียนข้อมูลได้คนเดียว แล้วเราเชื่อตัวกลาง ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ บล็อกเชน คนที่พูดว่าจะทำระบบแจกเงินคนละหมื่นบาทด้วย บล็อกเชน ควรจะต้องอธิบายได้ดีกว่านี้ว่ามีใครบ้างที่มีสิทธิ์เขียนข้อมูลบน Node ได้ เราถึงค่อยมาพิจารณาต่อว่าควรจะใช้ บล็อกเชน หรือไม่