ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อบ่ายวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ฤกษ์เปิดกล่องของขวัญให้คนไทยทั้งประเทศ
ด้วยการมีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ใน 2 ด้าน ได้แก่ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดีเซล จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค.นี้
โดยใช้กลไกการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร และกลไกกองทุนน้ำมัน และหากในอนาคตราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลก ปรับลดลงอีก ก็จะปรับราคาขายปลีกลงอีกจากปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร
ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน กระทรวงพลังงาน จะพิจารณารายละเอียด แนวทางการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าให้แก่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ และนำเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
รวมทั้ง จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำกับดูแลราคาขายปลีก ให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม 2 บาทต่อลิตร ตามมติ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร
สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะตรึงราคาขายปลีก ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้ ผ่านกลไกกองทุนน้ำมัน และจะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเป้าหมาย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ที่สำคัญ ในส่วนของมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ได้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า ที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ จากเดิมอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย
โดยกระทรวงพลังงาน จะร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการยืดชำระหนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีอยู่ 120,000 ล้านบาท ออกไป
รวมทั้งการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก
ทั้งนี้ ยังจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม ให้แก่กลุ่มเปราะบาง อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินดำเนินการรวม 30,000 ล้านบาท
ทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าว ผ่านการบริหารจัดการเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ต้องยอมรับว่ามาถูกที่ถูกเวลาและตรงปกกับที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับความจริงอีกด้านว่า อาจเป็นเพียงการบริหารตัวเลข ทั้งการลดภาษี การนำเงินตรงโน้นมาปะผุแผลที่กำลังเกิดขึ้นตรงนี้ ที่อาจบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายจ่ายของประชาชนได้เพียงชั่วคราว
ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาแบบนี้ เป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด เพราะไม่มีการระบุใด ๆ เลยจาก รัฐบาลจะจดมีดหมอชำแหละหรือปฏิวัติโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ว่าจะดำเนินการหรือไม่อย่างไร
เพราะอย่าลืมว่า ในเดือน ต.ค.-พ.ย. เป็นต้นไปจนถึงต้นปีหน้า ราคาพลังงานอาจดีดตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นวัฏจักรเพราะ ประเทศทางฝั่งยุโรปจะเข้าสู่ฤดูหนาวที่ยาวนานและรุนแรง ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น เพราะมีการนำไปผลิตเป็นพลังงานความร้อน แก้ปัญหาความหนาวอันหฤโหด เมื่อนั้นราคาพลังงานโลก ก็ จะกลับมาเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลอีกรอบหนึ่ง
ดังนั้น การแก้โครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้มีต้นทุนที่ลดลงอย่างเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ รวมถึงการแก้ไขโครงสร้างราคาที่ภาครัฐอาจถูกเอาเปรียบจากบริษัทเอกชน อาจเป็นทางเลือกที่ตรงจุด และรัฐบาลควรกำหนดให้เป็น”วาระแห่งชาติ” จึงเป็นทางออกที่ดีในระยะยาวนับจากนี้ไป
มาตรการเบื้องต้นที่รัฐบาล สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน มีทั้งการเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกกับประเทศกัมพูชา ที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ การเพิ่มค่าภาคหลวงจากแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ที่เตรียมการเปิดประมูลในเร็วๆ นี้
เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศอีกทางหนึ่ง ตลอดจนสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานแบบดั้งเดิม
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ