แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผิดกฎหมายหรือไม่ จะทำได้จริงหรือ?

Experts pool

Columnist

Tag

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผิดกฎหมายหรือไม่ จะทำได้จริงหรือ?

Date Time: 1 ก.ย. 2566 19:02 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผิดกฎหมายไหม ขัด พ.ร.บ.เงินตรา ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า หนึ่งประเทศจะมีสองสกุลเงินไม่ได้ หรือไม่ เป็นคำถามคาใจสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาว่า “เงินดิจิทัล” กับ “เงินตรา” ในความหมายที่รัฐบาลใหม่กำลังจะนำมาใช้นั้น ต่างกัน อย่างไร พร้อมคำถามอีกมากมายสำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ที่ใช้เงินรวมๆ กว่า 560,000 ล้านบาท

Latest


หลังจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา และประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทย ที่ชูสโลแกน “หยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน”

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (Digital Wallet) หรือ การแจก “เงินดิจิทัล” มูลค่า 10,000 บาท กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมูลค่าโครงการสูงถึงประมาณ 550,000-560,000 ล้านบาท ถือเป็นนโยบายแรกที่ทุกคนตั้งตารอ

เพราะในแง่ของการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ การใส่เงินใหม่ลงไปในระบบเศรษฐกิจกว่า 500,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะทำให้เกิดการใช้จ่ายสะพัดไปทั่วประเทศ และตามปกติของการใช้จ่ายจะไม่หยุดที่ครั้งแรก แต่จะมีเงินบางส่วนหมุนต่อๆ ไป เช่น จากคนซื้อไข่ ไปยังคนขายไข่ จากคนขายไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ แล้วคนเลี้ยงไก่ก็เอาเงินที่ได้มาไปซื้อไก่ หรือสินค้าอื่นๆ ต่อไปเป็นทอดๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยคาดการณ์ว่า จากเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาทที่ใส่ลงไปจะหมุนได้ประมาณ 2.7 ครั้ง หมายความว่า เราจะมีเงินสะพัดจากโครงการนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.512 ล้านล้านบาท และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2-3% ที่สำคัญจะทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

ในทางกลับกัน เมื่อประชาชนซื้อสินค้าแต่ละครั้ง รัฐบาลจะได้รับประโยชน์ เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กลับคืนมา 7% โดยประมาณการกันว่า หากเงิน 560,000 ล้านบาท หมุน 1 รอบ รัฐจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมา 35,000 ล้านบาท ถ้าหมุน 2.7 รอบ ก็จะได้คืนมาประมาณ 100,000 ล้านบาท และยังจะได้จากเงินภาษีจากบรรดาร้านค้าต้องจ่ายในช่วงสิ้นปีภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เขาขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

มาถึงขั้นตอนสำคัญ ว่า แล้วกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ว่านี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร และใช้งานได้อย่างไร

จากข้อมูลเบื้องต้น (ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะอยู่ระหว่างดำเนินการ) รัฐบาลใหม่คาดว่า จะสามารถเริ่มใช้ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โดยให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ และไม่จำกัดว่าได้รับสวัสดิการจากรัฐในรูปแบบอื่นอยู่แล้วหรือไม่ เช่น ผู้พิการ คนชราก็จะได้รับสิทธิใช้จ่าย 10,000 บาท เต็มจำนวนเช่นเดียวกัน

โดยสิทธิที่ได้จะผูกกับบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อรัฐบาลเตรียมทุกอย่างพร้อม จะมีแอปพลิเคชัน “กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล” ที่ผูกกับบัตรประชาชนให้โหลด หรือหากไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวที่รัฐออกให้เพื่อนำซื้อสินค้าและบริการได้

ส่วนจะเป็นสินค้าอะไรบ้างที่ซื้อได้ หรือพื้นที่จะอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากทะเบียนบ้านหรือไม่ จะใช้ชำระหนี้ หรือใช้ซื้อของออนไลน์ได้หรือไม่นั้น ทางคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาในครบถ้วน เพราะในแต่ละพื้นที่และประชาชนแต่ละส่วน ก็มีความต้องการใช้เงินที่แตกต่างกันไป ทำให้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโดยรวม และเงื่อนไขแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม

ขณะที่เม็ดเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในโครงการนี้ ภายใต้ภาระ “หนี้สาธารณะ” ของรัฐบาลที่อยู่ในระดับที่สูง และหากจะกู้เพิ่ม ควรทำในสถานการณ์จำเป็นจริงๆ นั้น

จากการนำเสนอของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า เม็ดเงินดังกล่าว จะนำมาจากรายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณหรือการเกลี่ยงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท รวม 560,000 ล้านบาทพอดี ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่ม

ทั้งนี้ หลังจากการศึกษาความเป็นไปได้มาระยะหนึ่ง สามารถสรุปได้ว่า  “เงินดิจิทัล” ที่จะออกมาตามโครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” นั้น จะไม่ใช่ การออก “คริปโตเคอร์เรนซี” อย่างที่ห่วงกันว่า จะไม่สามารถทำได้  เพราะจะผิดตาม พ.ร.บ.เงินตรา ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย “หนึ่งประเทศจะมีสองสกุลเงินไม่ได้” 

เงินสกุลหลักของประเทศ จะต้องมีสกุลเดียว คือ “เงินบาท” ซึ่งออกโดย ธปท. และยอมรับให้เป็นเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ในขณะที่ไม่ยอมรับ “คริปโตเคอร์เรนซี” ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ในฐานะเดียวกัน โดย ธปท.ยอมรับ “คริปโตเคอร์เรนซี” ในฐานะ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เท่านั้น ไม่ใช่สกุลเงิน

ดังนั้น แนวทางล่าสุด “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” จะออกมาในรูปแบบเหรียญ “ดิจิทัลโทเคน” ประเภท “ยูทิลิตี้ โทเคน (Utility Token)” ประเภทที่ 1 ซึ่งจะเป็น “โทเคน” เพื่อการอุปโภคบริโภค และสามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ทั้งหมดของผู้ถือโทเคนไว้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ถือโทเคนได้รับการบริการหรือแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสดตามเงื่อนไขตามโปรแกรมของเหรียญนั้นๆ เช่น สามารถใช้เหรียญโทเคนแลกเปลี่ยนอะไรได้บ้าง และใช้ได้ที่ไหนบ้าง

โดย 1 เหรียญโทเคนในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้ จะมีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท และมีรัฐบาลเป็นประกัน แต่ไม่สามารถถอนออกมาเป็นเงินสดได้

อย่างไรก็ตาม ตามเกณฑ์ของ ธปท. “ยูทิลิตี้ โทเคน (Utility Token)” จะสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และการบริการต่างๆ แบบเฉพาะเจาะจง ภายในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง ในลักษณะของการใช้แทนเงิน (Means of Payment: MOP) เป็นการทั่วไป

ดังนั้น จึงอาจจะต้องพิจารณาให้ดีว่า การใช้โทเคนดังกล่าวในการซื้อสินค้า และบริการกับร้านค้าทั่วประเทศ อาจจะเข้าข่ายเป็น “การชำระในลักษณะการเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง” หรือ การใช้แทนเงิน ซึ่งจะผิดกฎเกณฑ์ของทาง ธปท.

ทำให้หากรัฐบาลจะใช้ “ดิจิทัลโทเคน” เป็น “เหรียญ หรือ คูปอง” แทนเงินในกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลจริง ก็จำเป็นต้องหารือกับ ธปท.ถึงแนวทางที่สามารถทำได้ และอาจจะต้องแก้ไข หรือยกเว้นกฎเกณฑ์ของ ธปท.ในส่วนนี้ให้สอดคล้องกัน

รวมทั้งอาจจะต้องหารือกับ ธปท.ในเรื่อง “เงินเฟ้อ” ที่อาจจะเพิ่มขึ้น จากเม็ดเงินของโครงการ ซึ่งอาจจะกดดันให้ราคาสินค้าและบริการทั้งระบบเพิ่มขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และส่งผลต่อกำลังซื้อโดยให้รวมลดลงในอนาคตไปพร้อมกันด้วย

และนอกเหนือจากประเด็นเหล่านี้ ยังมีอีกประเด็นที่ให้ความสนใจกันอย่างมาก คือ การแลกคืน “เหรียญโทเคนดิจิทัล” ที่ร้านค้าได้มาจากประชาชนกลับเป็น “เงินบาท” ว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไรในการแลกคืนเป็นเงินบาท ระยะเวลาในการแลกคืนจะแลกได้เมื่อไร และใครเป็นคนแลกคืนได้บ้าง เพราะยังไม่มีความชัดเจน

โดยมีข่าวลือออกมาในลักษณะว่า อาจจะไม่ได้เป็นเหมือน “โครงการคนละครึ่ง” ที่รัฐจะจ่ายเงินให้ในวันรุ่งขึ้น แต่อาจจะให้แลกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีนิติบุคคลที่ต้องเสียในแต่ละปี หรือให้ร้านค้ารายเล็กนำเหรียญที่ได้รับจากการซื้อสินค้ามาแลกซื้อสินค้าและบริการกับรายใหญ่ เพื่อให้รายใหญ่นำมาแลกกับรัฐอีกที  

ประเด็นนี้ จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการเงินงบประมาณที่จะใช้ในโครงการให้พร้อม และสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนก่อนเริ่มโครงการจริง เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้ และได้รับความมั่นใจจากประชาชน

ยังไม่นับรวมอีกงานที่หนักของโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงินดิจิทัล สร้างแอปพลิเคชันในการชำระเงิน สร้างบล็อกเชนใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินลงทุนและระยะเวลาจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าขณะนี้ “นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” จะยังมีข้อติดขัดอยู่บ้าง แต่เชื่อว่า ในที่สุด รัฐบาลจะสามารถทำโครงการนี้ออกมาเป็น “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย” ได้สำเร็จ ช่วยให้คนไทยมีเงินที่จะใช้จ่าย หรือใช้เป็นทุนประกอบอาชีพได้ และเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงไว้จริงๆ

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ประอร นพคุณ

ประอร นพคุณ
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ