เปิด 10 สินค้า-บริการ ที่ครัวเรือนไทยต้องจ่าย ทุกเดือน

Experts pool

Columnist

Tag

เปิด 10 สินค้า-บริการ ที่ครัวเรือนไทยต้องจ่าย ทุกเดือน

Date Time: 25 ส.ค. 2566 17:55 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เปิดลิสต์รายจ่าย 10 สินค้าและบริการ ที่ครัวเรือนไทยกินใช้ พบเดือน ก.ค. 2566 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 18,130 บาท/ครัวเรือน เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 58.53% ส่วนอีก 41.47% เป็นค่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

Latest


ทุกวันนี้ ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเดือนละเท่าไร และ 10 อันดับแรกของสินค้าและบริการ ที่จ่ายเงินซื้อไปนั้น เป็นอะไรบ้าง วันนี้มีคำตอบ

จากการสำรวจของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 2 ปี หรือตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน แต่ละเดือน ครัวเรือนไทยทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 18,000 บาท จากก่อนหน้าที่เฉลี่ยกว่า 17,000 บาท เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าที่สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า

ในจำนวนนี้ สัดส่วนเกือบ 60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนอีกกว่า 40% เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

อย่างล่าสุด เดือน ก.ค. 2566 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 18,130 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 58.53% และเป็นค่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 41.47% ใกล้เคียงกับเดือน มิ.ย. 2566 ที่มีค่าใช้จ่าย 18,132 บาท

สำหรับสินค้าและบริการ 10 อันดับแรก ที่ครัวเรือนไทยต้องใช้จ่ายในแต่ละเดือน จะเหมือนๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าเดินทาง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าบ้าน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม อาหารบริโภคในและนอกบ้าน ฯลฯ

ส่วนเดือน ก.ค. 2566 ก็เช่นกัน สินค้าและบริการ ที่ใช้จ่ายสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

  1. ค่าโดยสารสาธารณะ ซื้อยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง บริการโทรศัพท์มือถือ 4,208 บาท
  2. ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,037 บาท
  3. เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ 1,678 บาท
  4. อาหารบริโภคในบ้าน เดลิเวอรี 1,641 บาท
  5. อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,254 บาท
  6. ผัก ผลไม้ 1,027 บาท
  7. ค่าแพทย์ ค่ายา และค่าบริการส่วนบุคคล 986 บาท
  8. ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่างๆ 764 บาท
  9. ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 679 บาท
  10. เครื่องปรุงอาหาร 427 บาท

นอกนั้น เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อไข่และผลิตภัณฑ์นม 408 บาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 403 บาท, เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 376 บาท และบุหรี่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ อย่าง เหล้า เบียร์ 241 บาท

โดยคาดว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะยังคงทรงตัวต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าต่างๆ ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มยังทรงตัวในระดับสูง และส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นตามมาด้วย

ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีจำนวนมากของประเทศ บอกได้เลยว่า อยู่ยาก!! เพราะมีเงินไม่เพียงพอกับรายจ่าย ต้องกู้หนี้ยืมสิน และเป็นหนี้บานเบอะ และค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ ก็ยังไม่นับรวมเงินบางส่วนที่จะต้องเจียดไปชำระหนี้ตามกำหนด จากการกู้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งหนี้ในระบบ กู้จากสถาบันการเงิน และนอกระบบ ที่กู้จากเจ้าหน้าเงินกู้หน้าเลือดอีก

สถานการณ์ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เช่นนี้ ส่งผลให้ครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะนับจากช่วงโควิด-19 ระบาด ที่ทำให้ผู้คนตกงาน ถูกลดเงินเดือน ธุรกิจเจ๊ง มาจนถึงปัจจุบันที่ข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าปรับขึ้นถ้วนหน้า

จากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ล่าสุดเดือน ก.ค. 2566 พบว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สินรวม 559,408.70 บาทต่อครัวเรือน สูงสุดในรอบ 15 ปี!

นับจากปี 2552 ที่มีหนี้สินรวม 143,476.32 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัว 11.5% จากปี 65 ที่มีหนี้ 501,711.84 บาท มีภาระผ่อนชำระเดือนละ 16,742 บาท แต่มีความสามารถชำระหนี้ต่ำ ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทย สูงถึง 90% ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ซึ่งอาจฉุดกำลังซื้อในประเทศ และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

ดังนั้น ธปท. และสถาบันการเงิน ได้พยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่บรรเทาเบาบางลง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะรายได้ที่ยังเปราะบาง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

“โจทย์ใหญ่” ที่เป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาลชุดใหม่ คือ การแก้ปัญหาปากท้อง ลดค่าครองชีพ สร้างงาน สร้างรายได้คนไทย และพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้เต็มศักยภาพ เพื่อให้คนไทยมีเงินใช้จ่ายซื้อสินค้าที่นอกเหนือจากสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน และมีเงินเหลือเก็บออม สร้างความมั่นคงในชีวิตในระยะยาว!!

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ