4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2566

Experts pool

Columnist

Tag

4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2566

Date Time: 3 ก.ย. 2566 14:55 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวแผ่วลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะมีแนวโน้มจำกัดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวจากภาวะเศรษฐกิจในบางประเทศชะลอตัว แต่จะยังส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

Latest


เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการเป็นหลัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 16.47 ล้านคน (ข้อมูลถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2566) สอดคล้องกับการจ้างงานและดัชนีความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 และ 2 ปี 2566 ออกมาขยายตัวเพียง 2.6%YOY และ 1.8%YOY ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวได้เพียง 2.2% สาเหตุหลักเพราะการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลงจากปีก่อน 

โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงมาก นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยฐานที่มีการใช้จ่ายจากเงินกู้เพิ่มเติมช่วงวิกฤติโควิดและการเบิกจ่ายงบลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ

โดยปัจจัยความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้มีด้วยกัน 4 ประเด็น ได้แก่

  • ภัยแล้งจากเอลนีโญ
  • การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลก
  • ภาคธุรกิจไทยฟื้นตัวบนความเปราะบาง
  • หนี้ครัวเรือนสูง

ภัยแล้งจากเอลนีโญ

ข้อมูลปริมาณฝนในช่วง 1 - 27 ส.ค. ของประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ (ฝนแล้ง) ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศมีน้อยกว่าค่าปกติถึง 27% สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการกลับมาของเอลนีโญ โดย International Research Institute for Climate and Society (IRI) คาดว่าโลกอาจจะต้องเผชิญเอลนีโญไปจนถึง เม.ย. 2567

จากเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าค่าปกติที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถผลิตได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจะมีผลผลักดันให้ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยกดดันเงินเฟ้อหมวดอาหารเพิ่มเติม โดยผลกระทบของเอลนีโญที่มีต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปีหน้า 

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน

กลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาประกาศลดกำลังการผลิตแบบสมัครใจที่ 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2566 เป็นสิ้นสุดปี 2567 นอกจากนี้ จะเข้าสู่ช่วง High season ของการใช้น้ำมัน เนื่องจากเป็น Driving season ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญกระทบอุปสงค์น้ำมันโลกที่ยังมีสัญญาณไม่ชัดเจน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ล่าช้า และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อราคาพลังงาน

เนื่องด้วยราคาพลังงานโลกและต้นทุนน้ำมันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกของ 2566 ทำให้การจะตรึงราคาไว้ที่ระดับเดิมได้นั้น กองทุนน้ำมันต้องเข้าไปช่วยพยุงราคามากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน มองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงที่กองทุนน้ำมันอาจรับภาระอุ้มราคาได้เพียงบางส่วน จึงมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันในประเทศอาจปรับสูงขึ้นและเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อหมวดพลังงาน

ภาคธุรกิจไทยฟื้นตัวบนความเปราะบาง

ภาคธุรกิจไทยกำลังฟื้นตัวบนความเปราะบางจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นผลมาจากความอ่อนไหว (Sensitivity) ของภาระดอกเบี้ยจ่ายต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจจะมีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยบริษัทที่มีดอกเบี้ยจ่ายมากกว่ากำไร (ก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี) และเข้าข่ายกิจการที่เปิดมานานกว่า 10 ปี จะถูกเรียกว่า “บริษัทผีดิบ (Zombie firms)” ซึ่งเป็นลักษณะของบริษัทที่มีกำไรไม่มากพอที่จะมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ไม่ได้มีผลประกอบการแย่ถึงกับต้องปิดกิจการ 

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวของดอกเบี้ยจ่ายมากย่อมเผชิญความเสี่ยงที่จะเป็นบริษัทผีดิบมากขึ้น หากพิจารณาในมิติขนาดของบริษัท SCB EIC คาดว่าในปี 2566 สัดส่วน Zombie firms จะเพิ่มขึ้นมากสุดในกลุ่มธุรกิจขนาดย่อยอยู่ที่ 29% เทียบกับ 16.6% ในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์ระบาด COVID-19 โดยการเพิ่มขึ้นของ Zombie firms นั้นจะส่งผลให้ความสามารถในการลงทุนของภาคเอกชนลดลงตามไปด้วย

หนี้ครัวเรือนไทยสูง 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันจัดว่าน่าเป็นกังวล จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 90.6% (หลังปรับปรุงนิยามใหม่) โดยแบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิตในสัดส่วน 50%, 24%, 22%, และ 4% ตามลำดับ หากประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลกดดันเศรษฐกิจจากความสามารถในการบริโภคที่ลดลง เนื่องจากครัวเรือนต้องนำรายได้ไปชำระหนี้ ส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศในระยะข้างหน้าจะไม่สูงนัก

ปัจจุบัน ธปท. ได้ออกชุดมาตรการใหม่แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและตรงจุดมากขึ้นเพื่อเร่งแก้ปัญหานี้ โดยเน้นไปที่ “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)” และเจ้าหนี้ต้องดูแลลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนของลูกหนี้รายได้น้อยและเข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (หรือเป็นหนี้ที่จ่ายดอกมากกว่าเงินต้นใน 5 ปีที่ผ่านมา) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี และคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ต่อปี

ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ที่กล่าวมานับว่าเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับผู้ออกนโยบาย และคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น จะออกแบบนโยบายเพื่อรับมือความท้าทายเหล่านี้อย่างไร

บทความโดย

ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา

นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ (SCB EIC)

eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา

ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา
นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ (SCB EIC)