แม้เศรษฐกิจจีนจะส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่กลับมา ทำให้อัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่เลย์ออฟคนเพื่อลดต้นทุน รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในภาวะที่คนรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย
ข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ย. พบว่าอัตราว่างงานในเขตเมืองของคนอายุ 16-24 ปี (ไม่นับรวมนักเรียน-นักศึกษา) ลดลงมาอยู่ที่ 16.1% หลังจากที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% ในเดือน มิ.ย. ปี 2566 จนทำให้ทางการจีนต้องสั่งระงับรายงานตัวเลขว่างงานเยาวชนไปหลายเดือน เพื่อหาแนวทางคำนวณสถิติใหม่
ด้านคนวัย 25-29 ปี ก็มีอัตราว่างงานลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 6.7% ขณะที่คนวัย 30-59 ปี ยังว่างงานเท่าเดิมที่ 3.8%
ในยุคที่งานหายาก ทำให้คนจีนจำนวนไม่น้อยหันมาทำงานฟรีแลนซ์มากขึ้น เช่น เป็นไรเดอร์ส่งอาหาร อินฟลูเอนเซอร์ แต่บางคนก็ยังยืนหยัดที่จะทำงานประจำในออฟฟิศ ร่อนใบสมัครเป็นร้อยแผ่นเพื่อหวังว่าสักวันจะโชคดีมีบริษัทติดต่อกลับมา แต่ระหว่างนั้นก็ต้องแบกรับแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะแรงกดดันจากครอบครัว เนื่องจากจีนเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูง วัดความสำเร็จจากการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน ดังนั้นใครที่หางานไม่ได้ หรือไม่มีงานทำจึงถูกมองว่า “ล้มเหลว”
หลายคนที่รับแรงกดดันไม่ไหว จึงเลือกที่จะโกหกหรือไม่บอกคนรอบตัวว่าตัวเองกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก จนเกิดเป็นเทรนด์ “แสร้งทำงาน” ใช้ชีวิตเหมือนออกไปทำงานตามปกติ เพื่อหนีแรงกดดันสังคม
Jiawei (เจีย เหว่ย) อดีตพนักงานบริษัทอีคอมเมิร์ซจากเมืองหางโจว กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทของเขาล้มละลาย เขาใช้เวลาทั้งวันที่ร้านกาแฟเพื่อสมัครงานและส่งเรซูเม่
“การว่างงานนั้นเครียดมาก แต่ฉันไม่อยากส่งต่อความรู้สึกแง่ลบให้กับครอบครัว” เขากล่าวกับสื่อแผ่นดินใหญ่ Yunxi Technology
ทุกวันเจียเหว่ยจะเข้าไปใช้บริการร้านกาแฟ และอยู่ที่นั่นจนดึก เพื่อเลียนแบบการทำงานล่วงเวลา
ในขณะเดียวกัน Chen (เฉิน) อดีตคนงานบริษัทเซมิคอนดักเตอร์วัย 29 ปี จากมณฑลหูเป่ย์เปิดเผยว่าหลังจากถูกเลิกจ้างเมื่อปีที่แล้ว เขาเลือกที่จะไม่บอกแฟนสาวของเขา ระหว่างที่ได้รับเงินชดเชยสองเดือน เขาใช้เวลาทั้งวันที่ห้องสมุดเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ารับราชการ
เทรนด์การแสร้งทำงาน เพื่อหลีกหนีแรงกดดันสังคม จุดประกายให้บริษัทหลายแห่งที่มีพื้นที่ว่าง พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เสนอบริการ “แสร้งทำงาน” โดยเปิดให้เช่าพื้นที่ออฟฟิศ พร้อมอาหารกลางวัน วันละ 30 หยวน (140 บาท) เพื่อให้คนที่ตกงานหรือยังไม่มีงานทำ แสร้งทำเป็นเหมือนว่ายังมีงานทำตามปกติ
บนโซเชียลมีเดีย มักมีบัญชีที่ไม่เปิดเผยตัวตน แวะเวียนเข้ามาโพสต์วิดีโอโฆษณาพื้นที่สำนักงานว่างให้เช่า สำหรับคนที่ตกงานอยู่เรื่อยๆ มีบริการเสริมที่แตกต่างกันไป เช่น การเสนอบริการให้เช่าห้อง พร้อมจัดฉาก ถ่ายรูปให้ดูเหมือนว่าลูกค้าเป็นพนักงานระดับสูงของบริษัท โดยมีค่าบริการ 50 หยวน เพื่อใช้หลักฐานยืนยันกับครอบครัว
เทรนด์ "แสร้งทำงาน" ได้รับความสนใจอย่างมากบนโซเชียลมีเดีย โดยการค้นหาหัวข้อที่เกี่ยวข้องมียอดวิวมากกว่า 100 ล้านครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า "การแสร้งทำงาน" เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความโดดเดี่ยวในประเทศจีน
“สังคมกดดันผู้คนให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และบางครั้งคนหนุ่มสาวก็ตั้งความคาดหวังในการทำงานสูงเกินไป การตกงานอย่างกระทันหันอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้” Zhang Yong (จาง หย่ง) ศาสตราจารย์ด้านสังคมสงเคราะห์ที่ Wuhan University of Science and Technology กล่าว
เขาแนะนำให้ผู้ว่างงานขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญแทนที่จะเก็บงำปัญหาไว้กับตัวเอง
“พวกเขาจำเป็นต้องมองสถานการณ์ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เข้าใจตลาดงาน เปิดใจกับครอบครัว และสร้างแนวคิดที่เป็นบวกต่อการเลือกอาชีพ”
ที่มา