ชนชั้นกลาง "อินโดนีเซีย" เจอวิกฤติค่าครองชีพ ขาดสภาพคล่อง จนต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อดิจิทัล หมุนเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ข้อมูลจาก Indonesia's Financial Services Authority (OJK) พบว่า คนอินโดนีเซียราว 137 ล้านคน หรือประมาณสองในสาม ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มียอดหนี้คงค้างบนแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัล รวมกัน 66 ล้านล้านรูเปียห์(4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2567 ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระเกิน 1 เดือน โดยยอดหนี้คงค้างดังกล่าว พุ่งสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 มีผู้กู้อยู่ 18.6 ล้านคน และมียอดหนี้คงค้าง 13.16 ล้านล้านรูเปียห์(825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มียอดเบิกจ่ายไปแล้ว 218 ล้านล้านรูเปียห์(1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 72 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2563
การที่คนอินโดนีเซียหันมาพึ่งพาสินเชื่อจากแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น แทนที่ จะขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เนื่องจากหลังโควิด คนส่วนใหญ่รายได้ยังไม่ฟื้น จากหลุมรายได้ที่หายไป ประกอบอัตราดอกเบี้ยที่สูง ผลักดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตาม ทำให้คนขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการเลย์ออฟครั้งใหญ่ของบริษัทต่างๆ หลายคนจึงต้องหันมาทำงานฟรีแลนซ์หรือรับจ้างเป็นแรงงานนอกระบบที่รายได้ไม่แน่นอน เมื่อไม่มีงานประจำ การขอสินเชื่อจากธนาคารจึงทำได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559 อินโดนีเซียได้อนุญาตการให้บริการทางการเงิน ในรูปแบบ Peer-to-Peer Lending (P2P Lending) ซึ่งเป็นการ ‘กู้ยืม’ ระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่าน ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ โดยไม่มีสถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นตัวกลาง ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์
ในช่วงแรก P2P มีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจขนาดเล็ก ที่มักประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคาร เนื่องจากมีข้อมูลเครดิตไม่เพียงพอ
ต่อมาได้ขยายบริการดังกล่าว ไปยังผู้กู้รายย่อยในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลและบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" หรือ Buy Now Pay Later(BNPL) บนแพลตฟอร์ม e-Commerce โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สินเชื่อดิจิทัลสำหรับรายย่อยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แซงหน้าสินเชื่อธุรกิจ โดยคิดเป็น 71.43% ของสินเชื่อที่เบิกจ่ายทั้งหมดในปีนี้ และสินเชื่อส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเกาะชวา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 56% ของประชากรอินโดนีเซีย และคิดเป็นเกือบ 80% ของบัญชีสินเชื่อทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้คนอินโดนีเซีย จะมีความรู้ทางการเงินในระดับสูงที่ 65% แต่พบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ขอสินเชื่อดิจิทัล โดยไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการหนี้ เนื่องจากไม่เข้าใจกลไกการทำงานของดอกเบี้ยและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเครดิต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มักกู้เงินจากแพลตฟอร์มหนึ่ง ไปโปะหนี้อีกแพลตฟอร์ม จนเป็นหนี้เกินตัว ผ่อนชำระไม่ไหว เพื่อรับมือกับวิกฤตหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น OJK ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมแบบดิจิทัลไว้ที่ 0.3% ต่อวัน หรือ 108% ต่อปี โดยตัวเลขนี้จะลดลงเหลือ 0.2% ต่อวัน (72% ต่อปี) ในปี 2568 และ 0.1% ต่อวัน (36% ต่อปี) ในปี 2569
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney