พาณิชย์ ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง ชะลอขายข้าวเสื่อม ทำรัฐเสียหายมหาศาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

พาณิชย์ ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง ชะลอขายข้าวเสื่อม ทำรัฐเสียหายมหาศาล

Date Time: 5 ก.ค. 2560 18:13 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • กรมการค้าต่างประเทศ ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองกลาง สั่งระงับขายข้าวเสื่อม ยันทำรัฐเสียหายมหาศาล และเอกชนที่ชนะประมูล 16 ราย สูญเสียทางธุรกิจ ตลาดข้าวพัง คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ ลั่นถ้ารัฐชนะคดี จ่อฟ้องค่าเสียหายแน่...

Latest


กรมการค้าต่างประเทศ ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองกลาง สั่งระงับขายข้าวเสื่อม ยันทำรัฐเสียหายมหาศาล และเอกชนที่ชนะประมูล 16 ราย สูญเสียทางธุรกิจ ตลาดข้าวพัง คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ ลั่นถ้ารัฐชนะคดี จ่อฟ้องค่าเสียหายแน่...


เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการประกวดราคาและการทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค ที่เปิดประมูลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ได้ยื่นฟ้องว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการอนุมัติ และถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูล ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาลปกครองกล่าวไปแล้ว โดยได้ยืนยันว่า การตัดสิทธิ์บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้เสนอซื้อเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประมูลมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขไว้ชัดเจน และการประมูลทำถูกต้องตามกฎระเบียบ โดยเปิดประมูลมาแล้ว 27 ครั้งไม่เคยมีแต่ปัญหาใดๆ ยกเว้นครั้งที่ 26 ที่บริษัทนี้เข้าร่วม

ส่วนกรณีที่บริษัทระบุว่าการไม่ได้ซื้อข้าวรัฐ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยานั้น กรมฯ ได้ยืนยันกับศาลฯ ว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตเอทานอล ซึ่งวัตถุดิบหลักในการผลิตไม่ใช่ข้าว แต่เป็นวัตถุดิบอื่น เช่น มันสำปะหลัง การที่บริษัทเข้าร่วมประมูลข้าว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของบริษัทที่จะทำกำไรในทางธุรกิจ การไม่ได้ข้าวที่ประมูล และหากเกิดความเสียหายขึ้น ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ของบริษัท ซึ่งอาจจะมาก-น้อย หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้ามีความเสียหาย ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อรัฐเพื่อขอรับการเยียวยาได้

อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน การที่ศาลฯ ระงับการทำสัญญาซื้อขายข้าวกลุ่ม 2 หรือข้าวเสื่อมเข้าสู่อุตสาหกรรมที่คนบริโภคไม่ได้ กับผู้ชนะประมูล 16 ราย ปริมาณกว่า 2.07 ล้านตัน และระงับการประมูลขายข้าวกลุ่ม 3 หรือข้าวเสื่อมเข้าสู่อุตสาหกรรมที่คนและสัตว์บริโภคไม่ได้ รอบ 2 ที่จะประมูลวันที่ 17 ก.ค.นี้ กว่า 530,000 ตัน จะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า เพราะทำให้รัฐต้องเสียค่าเก็บรักษาเดือนละ 163 ล้านบาท เสียรายได้ที่ได้จากการขายข้าว 2.07 ล้านตัน ราว 11,376 ล้านบาท กระทบต่อเป้าหมายการระบายข้าวให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้งยังจะกระทบต่อสิทธิของผู้ชนะประมูลข้าวทั้ง 16 ราย ที่ยังไม่ได้ทำสัญญา ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้มีแผนการผลิต และแผนการขายอยู่แล้ว เมื่อไม่ได้ข้าวไปก็จะกระทบต่อแผนการทางธุรกิจ เกิดความเสียหายทางธุรกิจ

“ที่สำคัญ คำสั่งให้ชะลอขายข้าวจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จนั้นยังไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน จากเดิมที่ตลาดรับรู้แล้วว่า รัฐจะระบายข้าวออกในเดือน ก.ค. และจะระบายให้หมดในเดือน ก.ย. ซึ่งจะกระทบต่อจิตวิทยาด้านการตลาด และกระทบต่อราคาข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ที่จะออกปลายปีนี้ ผลกระทบเหล่านี้เป็นผลกระทบในวงกว้างและใหญ่หลวง และเมื่อเกิดความเสียหายแล้ว ไม่รู้ใครจะเยียวยารัฐและผู้ชนะประมูลทั้ง 16 ราย”

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ศาลปกครองเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องระบายข้าวเสื่อมสภาพเหมือนข้าวคุณภาพดี ได้ยืนยันว่า ข้าวเสื่อมก็เป็นข้าวส่วนเกินที่กดทับตลาด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ มีภาระค่าใช้จ่าย และกระทบต่อตลาดข้าว เพราะทำให้เกิดความกังวลต่อตลาดว่ารัฐมีข้าวเสื่อม และไม่รู้ว่าจะระบายออกมาเมื่อใด ทั้งๆ ที่ความกังวลนี้ได้หมดไปก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนี้ได้กลับมามีความกังวลเกิดขึ้นอีก

“กรมฯ หวังว่า การยื่นอุทธรณ์จะทำให้ศาลเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และถ้ามีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ก็จะหยุดความเสียหายได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผลกระทบยาวตามที่ได้บอกไว้ การที่ศาลฯ มีคำสั่งชะลอการขายข้าว ก็เป็นเพียงการฟ้องร้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทรายเดียวเท่านั้น ถ้าฟ้องร้องกันแล้วบริษัทชนะ รัฐสามารถเยียวยาให้ได้ แต่ถ้ารัฐชนะ บริษัทแพ้ รัฐจะฟ้องร้องค่าเสียหายจากบริษัท ซึ่งประเมินมูลค่าเป็นตัวเลขไม่ได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ