เร่งติด “อีทิกเกต” พร้อมใช้ 1 ต.ค.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เร่งติด “อีทิกเกต” พร้อมใช้ 1 ต.ค.

Date Time: 16 มิ.ย. 2560 05:45 น.

Summary

  • นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ลงนามในสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ “อีทิกเกต” (E-Ticket) จำนวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ลงนามในสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ “อีทิกเกต” (E-Ticket) จำนวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทานรวม 5 ปี กับนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ระยะแรกจะดำเนินการติดตั้งระบบดังกล่าวบนรถประจำทาง ขสมก.ทั้งรถร้อนและรถปรับอากาศรวม 800 คัน ให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับการใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลจะเริ่มต้นโครงการในวันที่ 1 ต.ค.60 นี้

“ระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บค่าโดยสาร และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องการจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารด้วย”

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ในช่วงระยะ 2 ปีแรก ขสมก.จะจัดให้มีพนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถ ทำหน้าที่แนะนำการใช้บัตรก่อน จากนั้นจะปรับมาใช้ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติแทนทั้งหมด อย่างไรก็ตามวันที่ 1 ต.ค.60 นี้ จะมีการนำ “บัตรแมงมุม” หรือตั๋วร่วมบัตรใบเดียวที่สามารถเดินทางได้ทุกระบบขนส่งมาใช้ร่วมด้วย

ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO) กล่าวว่า โครงการนี้มีการติดตั้งระบบ “อีทิกเกต” และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือแคลชบ็อกซ์ ในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.จำนวน 2,600 คัน ซึ่งทางกลุ่มฯได้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนกรุงเทพฯมากขึ้น เพื่อให้สะดวก รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

“ภายในระยะเวลา 120 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา ต้องมีการติดตั้งระบบอีทิกเกต สําหรับรถโดยสารประจำทางไม่น้อยกว่า 100 คัน และภายใน 180 วัน ต้องติดตั้งให้ได้ครบ 800 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ต่างๆด้วย เพื่อให้ระบบอีทิกเกตสามารถใช้งานได้ตั้งแต่อุปกรณ์บนรถโดยสารประจำทาง ระบบสารสนเทศที่เขตการเดินรถ ที่ส่วนกลางของ ขสมก.และกระทรวงคมนาคม”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ