วันนี้ (20 ก.ย. 2567) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นผลกระทบต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา สำหรับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากตลาดรับรู้ทิศทางดอกเบี้ยล่วงหน้าไปแล้ว จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ไทยมากนัก แต่จะส่งผลในเรื่องค่าเงิน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ ผู้ว่าแบงก์ชาติเน้นย้ำว่า การดำเนินนโยบายของ กนง. จะพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจ, เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน
“ไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลดตาม มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบ การตัดสินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า (Outlook dependent)”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธปท. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจเดิม เนื่องจากยังไม่เห็นภาพเศรษฐกิจแตกต่างไปจากที่ประเมินไว้ โดยแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังเหมือนเดิม แต่ให้การจับตากับแนวโน้มตลาดเงินมากขึ้น
ผู้ว่าแบงก์ชาติยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนสูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่ไม่ได้แข็งค่าที่สุด โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.1% ทั้งนี้ สาเหตุความผันผวนมาจากราคาทอง เนื่องจากเงินบาทมีความสัมพันธ์กับทองมากกว่าเงินสกุลอื่น
ทั้งนี้ ในการประเมินผลกระทบต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน คือ ดอลลาร์อ่อนค่าลงจากเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ ธปท. ให้ความกังวลคือ การที่เงินบาทผันผวนจากปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน เช่น Hot money การที่นักลงทุนนำสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อหวังผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่สะท้อนพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่เห็นความเสี่ยงจากการเก็งกำไร
ด้านภาพรวมของเงินทุน พบว่า กระแสเงินทุนไหลออกน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยในปี 2566 มีกระแสเงินไหลออกสุทธิ 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงครึ่งปีหลังเป็นการไหลเข้าจากปัจจัยโลกและปัจจัยเฉพาะในประเทศ เช่น ความชัดเจนทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทกับทอง
สำหรับประเด็นความกังวลของค่าเงินที่มีต่อการส่งออก เมื่อพิจารณาข้อมูลในอดีต พบว่า ปริมาณการส่งออกขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามากกว่าค่าเงิน โดยค่าเงินจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกเมื่อแปลงเป็นเงินบาท ในด้าน margin และกำไรที่ได้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney