พณ. ได้งบเพิ่ม 2 พันล้าน ปลัดสั่งลุยเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาผู้ประกอบการเจาะตลาดเพื่อนบ้าน เร่งเปิดตลาดชุมชนประชารัฐ และตลาดกลางข้าวสาร พร้อมเสริมความแกร่งร้านค้าท้องถิ่น ตั้งสตาร์ท อัพ คอมเพล็กซ์ เชื่อหนุนจีดีพีภูมิภาคโต 10%...
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศให้กับกระทรวงพาณิชย์ในวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งผลักดันการจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้รับงบประมาณจำนวน 7 โครงการ มั่นใจว่า การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาค (จีดีพีภูมิภาค) ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 10%
สำหรับโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (เอ็นอีเอ) โดยจะเพิ่มหลักสูตรในการฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ เน้นการเจาะตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ให้มากขึ้น นอกเหนือจากหลักสูตรเดิมที่มุ่งการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ จะเร่งเปิดตลาดกลางและตลาดชุมชนประชารัฐให้ได้มากขึ้น และยังจะยกระดับและจัดทำมาตรฐานตลาด เช่น สะอาด ถูกสุขอนามัย กำจัดขยะ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้ตลาดที่เกิดขึ้น สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน จะเร่งพัฒนาตลาดภูมิภาค โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ได้ 16 ตลาด เน้นตลาดที่ติดชายแดน เพื่อให้เป็นตลาดที่จะใช้ขยายเข้าสู่ตลาดเพื่อนบ้าน และส่งออกไปขายต่างประเทศ
ส่วนตลาดกลางข้าวสาร อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้เกษตรกรมีพื้นที่ขายข้าว มีตลาดที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย มีระบบตรวจสอบคุณภาพข้าว มีระบบการซื้อขายที่ทันสมัย มีสินค้านวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้าวเกิดขึ้น โดยมีแนวคิดจัดตั้งใน 2 รูปแบบ คือ ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินการ หรือให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งในส่วนของเอกชนมีผู้สนใจเสนอตัวเข้ามาแล้ว 3-4 แห่ง
ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการพัฒนาร้านค้าท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และเป็นที่จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น สินค้าชุมชน และสินค้าโอทอป และยังจะช่วยพัฒนาศักยภาพร้านค้าชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ ส่วนโครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการครบวงจร หรือสตาร์ต อัพ คอมเพล็กซ์ คงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เพราะต้องปรับปรุงสถานที่ แต่ในระยะแรก จะจัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ การจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจก่อน ซึ่งหากจัดตั้งสำเร็จ จะเป็นศูนย์ที่ใช้ในการพัฒนาเอสเอ็มอี และสตาร์ต อัพ ได้อย่างครบวงจร.