พณ.แนะผู้ส่งออกไทย ตรวจสอบคุณสมบัติผู้นำเข้าสินค้าในสหรัฐฯให้ละเอียด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พณ.แนะผู้ส่งออกไทย ตรวจสอบคุณสมบัติผู้นำเข้าสินค้าในสหรัฐฯให้ละเอียด

Date Time: 8 เม.ย. 2560 21:03 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกไทย ตรวจสอบคุณสมบัติผู้นำเข้าสินค้าของตนเองในสหรัฐฯ ให้ละเอียด หลัง ทรัมป์ ออกคำสั่งพิเศษ เตรียมให้ผู้นำเข้ารายใหม่ และผู้นำเข้าเบี้ยวจ่ายอากรเอดี/ซีวีดี ต้องวางเงินค้ำประกันนำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ

Latest


พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกไทย ตรวจสอบคุณสมบัติผู้นำเข้าสินค้าของตนเองในสหรัฐฯ ให้ละเอียด หลัง  ทรัมป์ ออกคำสั่งพิเศษ เตรียมให้ผู้นำเข้ารายใหม่ และผู้นำเข้าเบี้ยวจ่ายอากรเอดี/ซีวีดี ต้องวางเงินค้ำประกันนำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ  หวั่นโยนให้ผู้ส่งออกมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และดันต้นทุนส่งออกพุ่ง

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามการประกาศคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด กรณีสั่งการให้ตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับ 16 ประเทศ รวมถึงไทย โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศว่า ภายในเวลา 90 วันหลังการออกคำสั่งดังกล่าว สหรัฐฯ จะกำหนดให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหม่ และไม่มีประวัติการนำเข้ากับศุลกากรสหรัฐฯ, เป็นผู้นำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุดการทุ่มตลาด (เอดี/ซีวีดี) แต่ไม่จ่ายอากรภายในระยะเวลาที่กำหนด และหลีกเลี่ยงการจ่ายอากรนั้น จะต้องถูกทางการสหรัฐฯ กำหนดให้วางเงินประกัน (บอนด์) การนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บอากรเอดี/ซีวีดี แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ เช่น เก็บอัตราเท่าใด เก็บอย่างไร คาดว่าจะมีการออกประกาศในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เบื้องต้น พบว่า สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการเอดี/ซีวีดี กับประเทศต่างๆ ในหลายสินค้า แยกเป็นการใช้มาตรการเอดี 325 กรณี และมาตรการซีวีดี 121 กรณี โดยใช้กับสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะและชิ้นส่วน ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอ แร่ธาตุ และอาหารที่มีมูลค่าสูง และมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในหลายรายการ ซึ่งหากสหรัฐฯ จะกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องวางบอนด์การนำเข้าสินค้านั้น จะกระทบกับผู้นำเข้าสินค้าบางประเภทจากไทยอย่างแน่นอน

สำหรับสินค้าของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ จะเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ เคยใช้เอดี/ซีวีดีกับไทย เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน, ท่อสแตนเลส, ข้อต่อท่อเหล็ก, ท่อเหล็ก, ลวดแรงดึงสูง, ถุงพลาสติกหิ้ว และกุ้งแช่แข็ง รวมถึงสินค้าที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการเอดี/ซีวีดกับประเทศอื่น เช่น จีน ที่ไทยส่งสินค้าวัตถุดิบ หรือกึ่งวัตถุดิบให้ อย่าง ยางรถยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ เหล็ก และผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

“เพื่อไม่ให้การส่งออกสินค้าไทยดังกล่าว ต้องได้รับผลกระทบโดยไม่จำเป็น กระทรวงพาณิชย์จึงขอให้ผู้ส่งออกไทย ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าของตนว่า ไม่เคยเป็นผู้ที่ไม่จ่ายเงินค่าอากรเอดี/ซีวีดีให้สหรัฐฯ หรือเป็นผู้นำเข้ารายใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้นำเข้าสินค้าของตนถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะมาเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นด้วย นอกจากนี้ การวางเงินประกันอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนการส่งออกของไทย หรือการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะหากการคืนเงินใช้เวลานาน หรือเกิดกรณีพิพาทกัน”

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า คำสั่งฉบับนี้จะใช้กับสินค้าจากทุกประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บอากรเอดี/ซีวีดี เมื่อสหรัฐฯ ได้จัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนออกมาใน 90 วัน สำหรับมาตรการเอดีนั้น เป็นการเก็บอากรเพื่อชดเชยการทุ่มตลาด หลังจากสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า สินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อขายในสหรัฐฯ มีการขายในราคาต่ำกว่าทุน จนทำให้ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันของสหรัฐฯ ได้รับความเสียหาย เช่น ยอดขายและกำไรลดลง ปริมาณการขายลดลง เป็นต้น ส่วนมาตรการซีวีดี เป็นอากรที่เก็บจากการที่ประเทศคู่ค้ามีการอุดหนุนในสินค้านั้นๆ โดยเป็นการอุดหนุนที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์กรณีคำสั่งพิเศษของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และได้หารือกับทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมวางแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทย หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการใดๆ กับไทย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์