หมูปิ้งเฮียนพ EP.2 เปิดสูตร (ไม่) ลับ นำพาพ้นความจน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หมูปิ้งเฮียนพ EP.2 เปิดสูตร (ไม่) ลับ นำพาพ้นความจน

Date Time: 18 เม.ย. 2560 05:30 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ไทยรัฐออนไลน์ยังคงพาไปเยือนโรงงานเฮียนพหมูนุ่ม เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งได้มาตรฐานในประเทศไทย ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย โดยวันนี้ จะพาไปเปิดสูตรทำหมูและเคล็ดไม่ลับในการทำธุรกิจ...

Latest


หลังจากครั้งที่ผ่านมา "ไทยรัฐออนไลน์" นำเสนอเส้นทางธุรกิจหมูปิ้งของ "เฮียนพ หมูนุ่ม" ไปแล้ว (หมูปิ้งเฮียนพ EP.1 หมดตัว ติดบูโร ไร้บ้าน สู่หมูปิ้งร้อยล้าน วันละแสนไม้) แต่เรื่องราวน่าสนใจยังไม่หมด เนื่องจากว่า ธุรกิจเฮียนพนั้น ทำหมูปิ้งหรือจะเรียกว่า เสียบหมูปิ้งขายสดๆ ทั้งปลีก-ส่ง แต่ไม่ปิ้งหมูขายแบบพร้อมกิน งงเด้งงเด้ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เรื่องราวธุรกิจของหนุ่มใหญ่รายนี้ ยังมีอีกมากมายให้ติดตาม

ดังนั้น วันนี้มาติดตามอ่านกันต่อเกี่ยวกับประเด็นทางธุรกิจและสูตรการทำหมูปิ้ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นอย่างไร "นายชวพจน์ ชูหิรัญ" หรือ เฮียนพ ของลูกค้าที่เรียกกันติดปากจะเป็นผู้ถ่ายทอด เชิญอ่านโดยพลัน

หมูปิ้งมาตรฐานสูง อย.-GMP การันตี

เมื่อสร้างโรงงานเสร็จยังไม่มีอะไรมากขนาดนี้ กลายเป็นว่า มาตรฐานยังไม่ได้ เนื่องจากการันตีด้วย อย. จึงไปขอยื่น อย.ที่สาธารณสุขจังหวัด โดยบอกว่า อยากจะทำหมูปิ้ง แต่เนื่องจากว่ายังไม่เคยมีการขอ ที่ผ่านมามีแต่ขอ อย.ลูกชิ้น ไส้กรอก หมูปิ้งยังไม่มี เพราะหมูปิ้งจะต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ไม้เสียบ เป็นเชื้อราอะไรไม่ได้ ไปจนถึงเนื้อหมูก็ต้องมีที่มาที่ไป จนบางครั้งมีคนบอกว่า ขายแพงไปก็เนื่องจากต้นทุนสูง เราเอาของมีที่มาที่ไป ไม่ใช่หมูเชือดเอง หมูต้องซื้อจากโรงงานที่มี อย. มี GMP ต้องตรวจสอบย้อนหลังกลับไปได้ ไม้ก็ต้องได้มาตรฐาน

มิติใหม่หมูปิ้งขึ้นห้าง-จัดลูกค้า 4 กลุ่ม

เมื่อครั้งขอ อย. เจ้าหน้าที่มาตรวจ 2 รอบ รอบแรกไม่ผ่าน มาผ่านรอบ 2 ปรากฏว่า เร่ิมมีลูกค้า เนื่องจากจดทะเบียนบริษัทก็มีลูกค้าห้างสรรพสินค้าเยอะเลย โดยกลุ่มลูกค้ามี 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มหาเช้ากินค่ำ หมายความว่า พ่อค้าแม่ค้าซื้อไปขายตอนเช้า เลิกขายนอน พรุ่งนี้ก็ขายใหม่ เป็นลูกค้าชาวบ้านทั่วไป 2. กลุ่มลูกค้าที่เราให้คำแนะนำ โดยบอกว่า เอาหมูปิ้งไปสต็อกแล้วบวกราคาเพิ่ม ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย ตรงนี้ตนเองมองว่า การทำธุรกิจถ้าเราไปผูกมัดมากอะไรมาก จะทำให้ยุ่งยากเกินไป เลยบอกว่า จะไม่ขายแฟรนไชส์ เป็นเจ้าเดียวที่ไม่ขายแฟรนไชส์ ไม่ผูกมัดทั้งสิ้น คนที่มาซื้อหมูปิ้งไปก็เอาไปสร้างแบรนด์เองได้

3. ลูกค้ากลุ่มที่ไปสร้างแบรนด์เอง โดยเอาสินค้าเราไปสร้างแบรนด์เอง เช่น หมูปิ้งนาย ก นาย ข อะไรก็แล้วแต่ โดยเราเป็นผู้ผลิตส่ง หรือ เรียกว่า OEM และ 4. ลูกค้ากลุ่มห้าง ซึ่งห้างจะต้องมีการแช่แข็ง ทำให้เราต้องขอ GMP เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุด โดยกลุ่มห้างนี้ขายแบรนด์เราก็มี เช่น เทสโก้ โลตัส นำไปสร้างแบรนด์เองก็มี รวมถึงปั๊มน้ำมันก็มีหลายปั๊มซื้อไปสร้างแบรนด์เองเพิ่มมูลค่า

ไม่รอตลาดอิ่มตัวขยับเพิ่มสินค้าใหม่ๆ

ขณะเดียวกันเรายังมีการเพิ่มไลน์โปรดักส์ ซึ่งตรงนี้ได้มาจากลูกค้าในการเพิ่มโปรดักส์ขึ้นมาจากหมูปิ้งนมสด ไก่ ไส้กรอกและไส้อั่ว เมื่อหมูปิ้งได้ตลาดมา มีลูกค้า เฮียนพเร่ิมดัง ตลาดเริ่มอิ่ม ลูกค้าก็แนะนำว่า เร่ิมทำไก่สิ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้มาจากลูกค้า

มาดู "เฮียนพหมูปิ้ง" ขายอะไรกันบ้าง

มี 4 ตัว ตัวแรกคือ 1. หมูปิ้งนมสด 2. ไก่ย่างโบราณ 3. ไส้กรอกโบราณ ซึ่งที่เรียกโบราณ เพราะไม่มีวุ้นเส้น และ 4. ไส้อั่วสมุนไพรล่าสุด

ไม่ต้องอึ้ง ขายหมูปิ้งถึงวันละ 1 แสนไม้

เราทำวันละ 100,000 ไม้ แต่ขายอาจจะถึงหรือไม่ถึง 100,000 ไม้ก็มี คือ เป็นการหมุนเวียน ซึ่งบางวันอาจขาย 80,000-90,000 ไม้ บางวันอาจขายมากกว่า 100,000 ไม้ แต่หลักๆ 1 วัน ทำ 100,000 ไม้ ใช้หมูน้ำหนักรวมประมาณ 4-5 ตัน หรือ 4,000-5,000 กิโลกรัมต่อวัน ใช้คนงานทั้งหมดประมาณ 170 คน โดยแรงงานถูกกฎหมายทั้งหมด ใช้กฎหมายและสวัสดิการไทย โดยขณะนี้กำลังทำเอ็มโอยูกับทางกัมพูชา ในการส่งแรงงานเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและให้หลักประกันว่า มาแล้วมีงานทำแน่นอน            

ตามที่กล่าวมาว่า ตลาด หรือ ลูกค้ามี 4 กลุ่ม โดยพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปมาซื้อที่โรงงาน ส่วนตัวแทนจำหน่ายก็นำไปสต็อกไว้ตามแต่ละจังหวัดและอำเภอ โดยเรามีรถห้องเย็นวิ่งไปส่ง กลุ่มที่ 3 สร้างแบรนด์เองก็แล้วแต่ อย่างเช่นในลาวและกัมพูชา เราส่งนานแล้วนำไปสร้างแบรนด์เอง โดยกัมพูชาเป็นกลุ่มดารานำไปสร้างแบรนด์เองแล้วขายและกลุ่มห้าง สรุปขายทั้งปลีก-ส่งและรับจ้างผลิตด้วย แต่ไม่มีร้านที่ปิ้งหมูขายเอง ขายหมูปิ้งสดอย่างเดียว

ยืนยันไม่ขายแฟรนไชส์-มีสอนฝึกขาย

ไม่มีขายแฟรนไชส์ แต่มีฝึกอาชีพทุกๆ เดือน ซึ่งเดือนละ 2 ครั้ง ในอาทิตย์ที่ 2 และ 4 ของเดือน จะมีการฝึกอาชีพฟรี มีคนมาเรียนเยอะ เนื่องจากว่าเราอยากให้คนที่มาซื้อสินค้าของเราได้ปิ้งย่างหมูเป็น เพราะบางทีบางคนมีเงินน้อยอยู่แล้วนำมาลงทุนแล้วเมื่อไปขายปิ้งย่างเสียไม่เหมือนปิ้งกินเอง แต่ขายต้องสวยและออกมาดีด้วย จึงมีการสอนขึ้น รวมทั้งการนึ่งข้าวเหนียวก็สอนคนที่สนใจตั้งใจมาก ซึ่งทำมา 2 ปีแล้ว

หยุดนิ่งไม่ได้กุญแจรักษาความสำเร็จไว้

วันนี้คิดว่าประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้หรือยังนั้น ยัง คือแบบนี้ ถ้าถามว่าโอเคกับวันนี้ ไหม โอเค แต่ว่าหยุดพัฒนาไม่ได้ เพราะเรามีภาระ 2 เรื่องคือ คนงานที่เลี้ยงดูต้องรับผิดชอบ และสองคือ พ่อค้าแม่ค้าที่มารับหมูจากเราไปประกอบอาชีพ ทำให้เราหยุดไม่ไ้ด้ ไม่ใช่ละโมบโลภมาก ต้องพยายามประคองกันไป แต่ในด้านของโรงงานนั้น การพัฒนาก็เป็นไปตามธุรกิจคือ เพิ่มสินค้าบ้าง แต่ไม่ใช่ทะเยอทะยาน

อดีตสุดลำบาก ลืมตาอ้าปากได้ก็ทำบุญ

ส่วนตัวศรัทธาหลวงปู่ทวดและทำบุญตลอด ทำบุญโดยการบริจาคโลงเย็น 14 โลงแล้ว เดือนละ 1 โลง ถามว่าทำไมต้องบริจาคโลงเย็น เพราะสมัยพ่อตายตอนอายุ 11 ขึ้นอืดหมด มีความทรงจำฝังใจ ประกอบกับได้คุยกับวัดต่างๆ ยังขาดแคลน นอกจากนั้น ยังแจกจักรยานให้เด็กนักเรียนทุกปี อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ภาคภูมิใจกับยอดขายทุกวันนี้ เพราะเป็นอาชีพที่เอาชีวิตหมูมาต่อชีวิตเรา แต่ว่าเป็นกรรมจากสัมมาชีพ เป็นอาหาร แต่จิตใต้สำนึกเรารู้ผิดชอบชั่วดี     

วางแผนโกอินเตอร์-ขอฮาลาล รง.ไก่

กำลังทำ HACCP ทำไปแล้ว 40% พัฒนาเพื่อส่งออก ตรงนี้คือเป้าหมายของโรงงาน ส่วนธุรกิจนั้นแตกไลน์สินค้าเป็น 4 อย่างคือ หมูปิ้ง ไก่ ไส้กรอกและไส้อั่ว นอกจากนั้น กำลังจะทำโรงงานไก่เพื่อขอฮาลาลที่กำแพงเพชร

คุณภาพ ราคา จัดส่งเคล็ดไม่ลับธุรกิจ

จริงๆ แล้วธุรกิจของไทยต้องทำทุกอย่างให้ได้มาตรฐานถูกต้อง ทำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ที่สำคัญ เป็นนโยบายของที่นี่ คือ ผูกพันต่อความพอใจสูงสุดของลูกค้า โดยการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และส่งมอบตรงเวลา ถ้าทำตามนี้ มีสัจจะ สินค้ากับคุณภาพต้องดี ราคาเหมาะสม ต้องมองว่าคนกินคิดได้ เชื่อว่าถ้าทำได้ตามที่กล่าวมา ธุรกิจทุกอย่างไปได้

สำหรับราคาขายหมูปิ้งนั้น หากปิ้งแล้วราคาจะแล้วแต่สถานที่ ส่วนใหญ่ราคาจะไม่เกินไม้ละ 10 บาท สมมติรับไปไม้ละ 4.90 บาท บางทีถ้าเมืองท่องเที่ยวจะขายไม้ละ 10 บาท บางที่รับไม้ละ 6 บาท ไปขาย 10 บาท เป็นต้น โดยเมืองท่องเที่ยวค่าที่แพงต้องอัพราคา ส่วนปั๊มน้ำมันรับไปไม้ละ 4.90 บาท ขาย 10 บาท เพราะค่าที่แพง

ราคาหมูก่อนปิ้งที่เราส่งมี 4 ราคา ได้แก่ หมูนักเรียนส่งไม้ละ 3.50 บาท ไปปิ้งขาย 5 บาท หมูเล็กไม้ละ 4.90 บาท ขาย 8 หรือ 10 บาท แล้วแต่สถานที่ ต่อมาหมูกลางไม้ละ 5.70 บาท เป็นไม้พายเสียบ และหมูใหญ่ส่ง 6.20 บาท ทั้งหมดสูตรเดียวกัน       

อ่านตรงนี้ สูตรหมูปิ้งเฮียนพร้อยล้าน!

สูตรหมูปิ้งเป็นความลับหรือไม่? ไม่เป็นความลับ จริงๆ แล้วเป็นสูตรหมูปิ้งทั่วไป เพียงแต่ว่ามาปรับใช้ในปริมาณที่เหมาะสม มีซอส ซีอิ๊ว น้ำตาล ผงปรุงรส นมสด ใส่ๆ ลงไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเอาวัตถุดิบอันไหนมา คือ เราใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ เร่ิมตั้งแต่เนื้อหมู ซื้อหมูจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน ใช้ส่วนสันนอกส่วนที่ดีที่สุดของหมู อย่างน้ำตาลปี๊บมีหลายเกรด เราใช้น้ำตาลจากโรงงานที่มีการตรวจสอบแล้วว่า ต้องหวานสม่ำเสมอ ส่วนนมสดที่เรียกว่าครีมเทียม เราใช้ยี่ห้อแพงที่สุด ใช้ของมีคุณภาพ ซอสและซีอิ๊วก็ใช้ของมีคุณภาพ

ยืนยันมาตรฐานทุกคำ ไม่ว่ากินที่ไหน

บางคนบอกว่ากินหมูปิ้งเหมือนกัน ทำไมของเจ้านั้นเจ้านี้ไม่เป็นแบบนี้ ก็เพราะสินค้าเหมือนกัน แต่คุณภาพของสินค้าไม่เหมือนกัน ง่ายๆ เทียบคุณภาพรถกับราคาและยี่ห้อคุณภาพไม่เหมือนกัน ซึ่งที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้ บางคนถามว่า ถามจริงๆ ทำไมต้องกินหมูของคุณ เมื่อเราอธิบายให้ฟังว่าสินค้าเราหนึ่งเร่ิมจากที่มาที่ไปของหมู หากไปกินทั่วไปไม่รู้เลยว่าหมูมาจากไหน แต่ถ้ากินของตน กินที่เชียงใหม่ ก็รู้ว่าผลิตวันไหน ตามย้อนหลังกลับมาได้ หากกินแล้วเป็นอะไรขึ้นมา เรียกว่าตรวจสอบกลับได้ เพราะมีกระบวนการจัดการที่เป็นรูปแบบบริษัท นอกจากนั้น เรื่องคุณภาพ กินที่เชียงใหม่กับกินที่สุไหงโก-ลก นั้นรสชาติเดียวกัน เพราะควบคุมเรื่องวัตถุดิบและคุณภาพ

ทำธุรกิจหากอยากให้สินค้าติดปากลูกค้า คนมีความรู้สึกว่ามั่นใจ ต้องเน้นเรื่องคุณภาพ ต้องกำหนดให้ได้ และอธิบายได้ด้วยว่า เอามาจากไหนยังไง ขณะเดียวกันถ้ามี อย.และ GMP โกหกไม่ได้ เพราะว่าถูกตรวจสอบ แต่สุดท้ายคนกินรู้ดีที่สุดเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มาตรฐานต่างๆ เช่น อย. และไอเอสโอ เป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงพื้นฐาน ใครทำได้มาตรฐานขอก็ได้ แต่ต้องพัฒนาสินค้า และที่สำคัญอย่าหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งจะไม่เกิดการซื้อต่อ และความมั่นคงไม่มี

มีวันนี้เพราะหมดตัว ดิ้นหนีความลำบาก

ตัวเองไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการทำธุรกิจ อยากจะบอกว่า ที่มาได้ทุกวันนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า เราเองมีที่ยึดเหนี่ยว มีบารมีของหลวงปู่ทวดขององค์จตุคาม ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทางไปทำสิ่งผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม บอกได้เลยว่า มาถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ได้วางแผนอะไร แต่เกิดจากการสิ้นเนื้อประดาตัว เลยอยากจะดิ้นหนีความลำบาก บ้านและที่ดินถูกยึด จนมามีทุกวันนี้ ซึ่งสิ่งที่ดิ้นมาเกิดเข้าหลักทางธุรกิจต่างๆ เช่น หลัก 4 พี อัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการวางแผน วิธีการขายก็ขายง่ายๆ ทำโปรโมชั่นก็ง่ายๆ บอกลองเอาไปขาย เป็นต้น

มีถามมามากว่า ทำไมไม่ทำแฟรนไชส์เพื่อรักษาลิขสิทธิ์ของตัวเอง แต่ตนคิดว่า หากคุยเยอะ เงื่อนไขเยอะคนไม่ซื้อ การทำธุรกิจถ้ามีเงื่อนไขเยอะไม่ได้ เงื่อนไขอย่าเยอะมาก เงื่อนไขมีได้ แต่อย่าเยอะมาก เพราะลูกค้าจะเครียดและไม่เอา

ธุรกิจไม่ง่าย เจ้าสัวร่วมวงทำหมูปิ้งแข่ง

ถามถึงการแข่งขันในธุรกิจนั้น ทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่า เดิมเป็นการแข่งขันระดับล่าง แต่ตอนนี้ยักษ์ใหญ่ลงมาทำหมูปิ้งหมดแล้ว พูดตามตรง เราซื้อหมูเบทาโกรทำทั้งหมูปิ้งและไส้กรอก แต่ทุกๆ วันนี้ เบทาโกรทำทั้งหมูปิ้ง นอกจากนั้น เครือซีพีก็ทำหมูปิ้ง สรุปทุกวันนี้ยักษ์ใหญ่ลงมาทำตลาดแข่งขัน เพราะเริ่มรู้เม็ดเงินแล้ว เจ้าใหญ่รู้เม็ดเงินตัวเลขหมูปิ้งจากปั๊มต่างๆ ก็สูง สรุปได้ว่า ตลาดทุกวันนี้ไม่ราบรื่นเหมือนเมื่อก่อน เพราะว่ายักษ์ใหญ่เริ่มมาทำตลาดแล้ว แต่การแข่งขันยังแบ่งโซนอยู่ คือ ยังไม่ได้รังแก ยักษ์ใหญ่ยังส่งเฉพาะตัวแทนของเขา

ไม่ธรรมดา! มูลค่าตลาดระดับพันล้าน

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดหมูปิ้งอยู่ที่เท่าไร ตรงนี้คาดว่า น่าจะเป็นหลักพันล้านบาท คนที่ยังไม่ได้ทำถูกต้องเข้าระบบจดทะเบียนก็มีเยอะมาก ซึ่งเมื่อมูลค่าตลาดมาก รายใหญ่จึงลงมาทำธุรกิจนี้ โดยรายใหญ่ก็ยังไม่ถึงขนาดรังแกเรา แต่ว่าเดิมเปรียบเหมือนชกกันแบบมวยวัด ทำแบบชาวบ้านทั่วไป แต่ทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องมีเชิง ไม่เช่นนั้นธุรกิจอยู่ไม่ได้หากรายใหญ่จะเก็บก็อยู่ไม่ได้แน่ สมมติแค่ว่า เราส่งหมูไม้ละ 6 บาท รายใหญ่ส่งขนาดเท่ากัน น้ำหนักเท่ากัน แต่ส่งไม้ละ 5 บาท ต้นทุนหมูก็ของรายใหญ่เลี้ยงเองด้วย ถ้าจะทำจริงเรียบร้อย รายเล็กจะไปเหลืออะไร เมื่อรายเล็กตายไปแล้วค่อยมาขึ้นราคาก็ได้

นพหมูนุ่มไม่ทิ้งลูกค้าเลย ตลาดล่างไม่ทิ้ง ตลาดบนก็ไม่ทิ้ง ขณะเดียวกันหลายคนถามว่า ไปขายทำไมตามห้าง ก็บอกตรงๆ ทุกครั้งแล้วจะให้ไปขายใคร เนื่องจากลงทุนไป 20,000,000-30,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผลิตให้ตาย เก่งการผลิต แต่ถ้าไม่มีตลาดจบ ลูกค้าอยู่ตรงไหนต้องไป จะไปรอแค่รายนั้นรายนี้ไม่ได้ ความแน่นอนไม่มี ลูกค้ารายย่อยทั่วไปความแน่นอนไม่ค่อยมี ขณะที่ห้างเป็นระบบเงินออกตรงตามกำหนด โดยสัดส่วนขายปลีกกับขายห้างอยู่ที่ 60 ต่อ 40 โดยขายห้าง 60% เจ้าหลักๆ เป็นโมเดิร์นเทรด

ให้ดูเป็นตัวอย่าง อดทนแล้วจะเห็นผล

เรื่องราวของตนไม่ใช่อะไรที่เป๊ะไปหมด ให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่อยากจะบอกว่า ในเรื่องของปัญหา เมื่อเจอปัญหาอยากให้เลือกที่จะไม่ทำผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ต้องมีความอดทน บางทีการอดทนถึงที่สุดจะทำให้สิ่งที่ทำมาเห็นผลได้ แต่ในเชิงธุรกิจต้องทำอย่างที่กล่าวมาคือ ต้องรักษาคุณภาพ ราคาเหมาะสม ส่งมอบตรงเวลา ที่สำคัญต้องมีสัจจะซึ่งสำคัญมาก บอกของเสร็จก็ต้องเสร็จ ทำได้ต้องทำได้ ใช้ของดีต้องของดี ไม่เสร็จก็คือไม่เสร็จต้องรีบบอกเลย เพราะคู่ค้าไม่มีอะไรมาบังคับกัน เราบอกว่าเซ็นสัญญา แต่สัญญาไม่สำคัญที่สุด เป็นเพียงสากลที่ทำกัน แต่สัจจะสำคัญที่สุดทั้งกับตัวเองและคู่ค้า ตนเองให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก.    
 




Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ