ยุค AI เรียนสูงยังจำเป็นไหม? ระดมสมอง “บิ๊กธุรกิจ” หาทางรอดประเทศไทย หนุนสร้างแรงงาน สายพันธุ์ใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุค AI เรียนสูงยังจำเป็นไหม? ระดมสมอง “บิ๊กธุรกิจ” หาทางรอดประเทศไทย หนุนสร้างแรงงาน สายพันธุ์ใหม่

Date Time: 3 ก.พ. 2568 17:41 น.

Video

เจาะวิธีทำเงินของ Yahoo ยักษ์ที่ยอมเป็นเงา เพื่อเอาตัวรอด | Digital Frontiers

Summary

  • Chula Thailand Presidents Summit 2025 เปิดเวที ระดมสมอง “บิ๊กธุรกิจ” ชั้นแนวหน้าของประเทศ ถกทางรอดประเทศไทย ยุค AI การศึกษาสำคัญแค่ไหน และ เรียนสูงยังจำเป็นไหม? อธิการบดีจุฬาฯ เปิด 10 ทักษะแห่งอนาคต หนุนสร้างแรงงาน สายพันธุ์ใหม่ ขณะ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” แนะ ประสบการณ์ และ ทักษะชีวิต สำคัญไม่ต่างจาก ความรู้ ด้านเจ้าสัว CP เสนอรัฐบาล ตั้งงบประมาณด่วน สร้างคน สร้างการศึกษา นำพาประเทศ

Latest


นับเป็นเวทีแรกของปี 2568 ที่รวบรวมสุดยอดผู้นำองค์กรระดับประเทศมาร่วมไว้ในงานเดียว เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเผยมุมมองสำคัญต่อการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยสำหรับงานสัมมนา “Chula Thailand Presidents Summit 2025”

โดยหัวข้อถกเถียงสำคัญคือ ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร? ในยุคที่โลกมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI และ GDP เติบโตช้า ขณะไทยมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรเปลี่ยนเร็ว ทำให้กำลังซื้อในระบบอยู่ในภาวะ “ถดถอย”

Future Thailand อยู่ตรงไหน?

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในยุคทุนนิยม ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกเวลานี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความ “เหลื่อมล้ำ” อย่างชัดเจนขึ้น จากการเร่งการผลิตจนบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อม ,DeepSeek ก็ทำให้โลก AI สะเทือน สร้างความปั่นป่วนในตลาดงานไม่น้อย

อีกทั้งหลายประเทศยังถามหาทางรอดจากการที่สหรัฐฯ และจีนทำสงครามการค้ากันมากขึ้น การสู้กันของมหาอำนาจที่ท้ายที่สุดอาจทำให้ประเทศเล็กๆ กลายเป็น “ผู้แพ้” อย่างราบคาบ

ส่วนอนาคตของประเทศไทยไม่ต่างกันนัก โดยปีนี้ถือเป็นไทม์ไลน์ที่สำคัญและอันตรายมาก หากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมไม่ร่วมมือกัน ยังทำงานแยกกันคนละส่วนอยู่เช่นนี้

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเปราะบาง มีเพียง “ภาคการท่องเที่ยว” ที่อนาคตสดใส เพราะภาคการส่งออกเริ่มไม่เติบโต ส่วนการลงทุนภาครัฐล่าช้า ครั้นจะหวังการลงทุนจากต่างประเทศก็ไม่ได้ดึงดูดได้มากอย่างที่คิด เพราะเราเสียท่าให้เวียดนามและอินโดนีเซียไปมาก

ซึ่งหากจะถามว่า Future Thailand คืออะไร? คำตอบคือ การเร่งปรับตัวทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการปั้นทรัพยากรมนุษย์สู้กับโลกใหม่ในทุกๆ มิติ

โดยเฉพาะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโลกดิจิทัล ได้ส่งผลให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากวิชาสาขาที่เคยแข่งขันสูง จบแล้วมีงานทำ ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพที่ถูกลืม บ้างก็ “ตกงาน”

จึงเห็นควรที่ภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร “ระยะสั้น” ในระบบการศึกษาไทย ควรเกิดขึ้นเพื่อให้ทันขบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หรือแม้แต่การเรียนเพื่อเอาวุฒิปริญญาตรี ช่วงเวลา 4 ปี อาจยาวนานเกินไป ทุกอย่างควรต้องสั้นลง และการโยกย้ายคณะระหว่างทางไม่ควรมีข้อจำกัดอีกต่อไป

เช่นเดียวกับการอัปสกิลต่างๆ ก็ควรเป็นพื้นที่ร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของตลาดงานอย่างแท้จริง เพื่อพัฒนาคนให้ถูกจุด ใช้งานได้จริงการสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรูปแบบเดิมๆ ที่สร้างแต่ปริญญา ไม่ใช่ “ปัญญา” อาจทำให้ไทยตกขบวน

“ประเทศไทยต้องมีความพร้อมทุกด้าน เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า ทางออกของประเทศไทยคือการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น เพราะขณะที่ประเทศต่างๆ มุ่งหน้า แต่เรานั่งอยู่เฉยๆ เราจะไม่รอด”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ยังกล่าวว่า ในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานยุคใหม่ ยังจำเป็นต้องการปรับตัวจากบุคลากรสำคัญ อย่างอาจารย์ด้วย

“เราจะมีบัณฑิตพันธุ์ใหม่ได้ เราต้องมีอาจารย์พันธุ์ใหม่ก่อน ซึ่งต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในภาคปฏิบัติจริง เคยทำงานกับภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคม อาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช ให้คำปรึกษา ไม่ใช่เลคเชอร์ เพราะเวลานี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ใช้ AI ทำแทนได้”

10 ทักษะแห่งอนาคต ของแรงงานยุคใหม่ 

ด้าน ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ Future Thailand: Next Growth สอดคล้องกันว่า วันนี้มิติของการศึกษาไทยต้องเปลี่ยนไป เพราะหากการศึกษาคือทิศทางของประเทศไทย การที่ World Economic Forum จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย แล้วเราได้อันดับที่ 37 แม้ความสามารถจะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่พบว่าการศึกษาในแต่ละเสาหลัก (Pillar) อันดับลดลงแทบทั้งสิ้น ไม่ควรนิ่งเฉย

โดยเฉพาะจุดบกพร่องแง่การคิดวิพากษ์ (Critical thinking) หรือกระบวนการคิดวิพากษ์โดยใช้วิจารณญาณ หรือการตัดสินอย่างมีเหตุผลรอบด้าน ที่เด็กไทยยังด้อยอยู่ ภายใต้คำปรามาสของ CEO ดังระดับโลก ว่าไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อการเรียนรู้ วุฒิปริญญาไม่ใช่หลักฐานที่ชี้ถึงความสามารถพิเศษอีกต่อไปนั้น 

บทบาทของมหาวิทยาลัยยิ่งต้องเข้มแข็ง และให้คำตอบประเทศไทยชัดเจนขึ้น ว่าอนาคตเด็กไทยจะไปทางไหน ทั้งนี้ เห็นว่ารากฐานของเศรษฐกิจจริงๆ ภายใต้ทุนนิยมคือการศึกษาเท่านั้น ที่ทำให้คนลืมตาอ้าปากได้ ต่อให้มี AI ที่ฉลาดล้ำก็ตาม แต่ท้ายที่สุด คนที่จัดการโลกก็ยังเป็นมนุษย์ เพียงแต่ต้องเป็นมนุษย์ “สายพันธุ์ใหม่”

“จริงอยู่ AI จะทำให้งาน 92 ล้านตำแหน่งหายไป แต่จะมีงานใหม่เพิ่ม 170 ล้านตำแหน่งในอนาคต การศึกษาไม่ใช่แค่ความรู้แต่บทบาทของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไป อาจารย์ต้องไม่มีหน้าที่แค่อ่าน PowerPoint ให้นิสิต - นักศึกษาฟัง แต่ต้องเพิ่ม 10 ทักษะที่จำเป็นแห่งยุค”

อธิการบดีจุฬาฯ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญเรื่องการปฏิรูประบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า ปี 2025 เป็นปีแห่งการพัฒนาคน การเรียนสูงยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่หลักสูตรการศึกษาต้องไม่ไกลตัว และไม่ทำให้เด็กตั้งคำถามว่าเรียนไปเพื่ออะไร? พร้อมเห็นว่าสิ่งที่ชนะ AI ได้คือความรู้ไม่ประดิษฐ์ และ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมนุษย์นั่นเอง อีกทั้งความหมายของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่สร้างผู้นำแห่งอนาคต แต่ต้องสร้าง Global Citizen (พลเมืองโลก)

และนี่คือ 10 ทักษะจำเป็นแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องเรียนรู้

1. ทักษะด้าน AI และ Big data
2. ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
3. ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
4. ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล
5. มีความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้
6. ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่นและคล่องตัว
7. มีความเห็นอกเห็นใจและมีทักษะในการรับฟัง
8. มีแรงผลักดันและมีแรงจูงใจในการทำงาน
9. ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร
10. มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” แนะ ประสบการณ์ - ทักษะ สำคัญไม่ต่างจากความรู้

ขณะ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ประธานกรรมการบริหาร แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ศิษย์เก่าจุฬาฯ เผยมุมมองเศรษฐกิจไทยและการปรับตัวว่า เมืองไทยไม่ใช่ไม่มีความหวัง แต่ยังมีอนาคตที่ดีอยู่
พร้อมเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะช่วยขับเคลื่อนได้ ส่วนประเด็นสงครามการค้ายังมีความหวังลึกๆ ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

เช่นเดียวกับภาคเกษตรกรรมที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อาหารโลก ยังจะไปต่อได้ หรือแม้แต่จุดเด่นด้านเฮลแคร์ ก็อาจเป็นฟันเฟืองใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เศรษฐกิจไทยได้ หากรัฐบาลวางแผน และวางกลยุทธ์ดีๆ

ด้านภาพใหญ่ อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้กันไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ทั้งเรื่องหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน ภาคการผลิตอย่างรถยนต์ที่ผลิตได้น้อยลงและเริ่มขายไม่ออก ส่วนแนวคิดสร้าง Entertainment Complex มีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ท้ายที่สุดต้องรอดูผลลัพธ์ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาในแง่เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย

ในแง่การพัฒนาคนให้พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ซีอีโอคนดังให้แง่คิดว่า ในโลกของการทำงานยุคใหม่ “ประสบการณ์และทักษะ” สำคัญมากกว่าความรู้ อยากฝากให้นิสิต นักศึกษา ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่าที่สุด เรียนไม่ต้องเก่งมาก แต่ต้องเรียนให้จบ สะสมประสบการณ์ระหว่างการเรียนให้ได้มากที่สุด เพราะมีผลอย่างมากต่อการทำงาน ฝึกการแก้ปัญหาให้เป็น เพราะหากทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ ยกระดับสังคม เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเช่นกัน

เจ้าสัว CP เสนอรัฐบาล ตั้งงบประมาณ สร้างคน สร้างการศึกษา

ทั้งนี้ ในงานสัมมนา “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ฐานะผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาฯยังได้ขึ้นเวทีเสวนาในหัวข้อเดียวกันว่า ประเทศไทยควรได้รับการสนับสนุนเป็นศูนย์การเรียนของโลก ไม่ใช่มีจุดเด่นเป็นเมืองน่าอยู่อาศัยเท่านั้น

จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อสร้างคน สร้างการศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศมีหลักสูตรที่ก้าวทันโลก ดึงคนเก่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทย สร้างประโยชน์หลายด้าน ไม่แพ้ภาคการท่องเที่ยว ได้ทั้งคนเก่ง เงินภาษี และต้นแบบบ่มเพาะให้คนไทยรุ่นต่อๆ ไป

ซึ่งเป็นเรื่องที่เอกชนให้ความสำคัญและเฝ้าติดตามอยู่เช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า หลายองค์กรจะอยู่ได้ก็ต้องอาศัยคนเก่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนา บ่มเพาะออกมา

เช่นเดียวกัน การที่คนไทยจะร่ำรวยขึ้น มีรายได้สูงขึ้น ก็หนีไม่พ้นจากรากฐานที่ต้องมีความรู้ ความฉลาด ซึ่งในที่นี่ไม่ได้จำกัดความแค่คนที่มี “ใบปริญญา”เท่านั้น  แต่ต้องเป็นคนที่มีปัญญา มีความสามารถ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรของไทยที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจ มีความเกี่ยวพันกับคนไทยมากที่สุด ก็มีความจำเป็นที่ต้องให้คนเก่งๆ มาช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สร้างมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตร ทุกอย่างเกี่ยวกันหมด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและภาคการศึกษาต้องช่วยพัฒนาคน เอกชนเองก็พร้อมจะช่วยอีกแรง เพราะถ้าคนไทยลืมตาอ้าปากไม่ได้ ไม่มีกำลังซื้อ ภาคธุรกิจก็ลำบากเช่นกัน.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ