ภายหลังอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลงส่งผลให้สายการบิน รวมทั้งสนามบินทั่วโลกเริ่มขยับตัวปรับกลยุทธ์ขยายขีดความสามารถในการรองรับกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือบางพื้นที่ขยายตัวสูงกว่าก่อนโควิด–19 ด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับสถานการณ์ของประเทศไทย ซึ่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IRTA ที่เคยได้ประเมินไว้ว่าในปี 2577-2578 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารของสายการบินเข้า-ออกเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการเติบโตของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย
ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม โดย “บริษัท ท่า อากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.” ไม่นิ่งนอนใจ จึงได้ทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบิน ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2568-2578) ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากมองว่า “สนามบิน” ถือเป็นหน้าตาของประเทศ และเป็น “ประตูบานแรก” ที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทย
“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อติดตามภารกิจการยกระดับ “สนามบิน” ของไทย และการปรับแผนกลยุทธ์เพื่อขยายขีดความสามารถสนามบินในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงราย และสนามบินหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร สายการบินที่เข้า-ออกประเทศไทย ที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้อย่างสมบูรณ์แบบและยั่งยืน
รวมทั้งพยายามไปให้ถึง “เป้าหมาย” ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลาง” ทางการบินในภูมิภาค และผลักดันให้สนามบินของไทยติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ซึ่ง “กีรติ” มองว่า “เป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ไกลเกินความจริง”
ทั้งนี้ นายกีรติเล่าให้ทีมเศรษฐกิจฟังว่า “ระหว่างเดือน ต.ค. 66-ก.ย.67 การเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในครึ่งปีหลังจะเป็นช่วง Low Season แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค” (Aviation Hub) ซึ่งการจะเป็นศูนย์กลางให้ได้ ทอท.จำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม และปรับการให้บริการที่มีความเชื่อมโยงสะดวก รวดเร็วกับผู้โดยสาร ทั้งในพื้นที่การบิน (Airside) และภายในอาคารผู้โดยสาร
นอกจากนั้น นโยบายของกระทรวงคมนาคมยังได้วางเป้าหมายให้ ทอท.พัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการบินภูมิภาค และพยายามผลักดันให้ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ติด 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้ และจากนั้นภายใน 5 ปี อยากให้ขยับขึ้นไปติด 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก
โดยล่าสุดสนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s Most Beautiful List 2024)
ขณะเดียวกัน อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ ยังได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล “Prix Versailles” หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO โดยจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค.2567 โดยเกณฑ์การให้คะแนนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นนั้น จะพิจารณาในด้านความงาม ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมที่ผสมผสานกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ในด้านขีดความสามารถ เราตั้งเป้าหมายว่า “สนามบิน” จะต้องสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 240 ล้านคนต่อปีภายในปี 2575 ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้น ต้องเร่งดำเนินการทั้งหมดใน 3 ระยะด้วยกัน ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้ดูแลเรื่องความสะอาด แก้ปัญหาจุดที่เป็นคอขวด เพิ่มความสะดวกสบายควบคู่ไปกับการลดระยะเวลารอคอย
โดยภายใต้เป้าหมายดังกล่าว ทอท.ได้ยกระดับคุณภาพการบริการและเพิ่มความรวดเร็วในการบริการในหลายด้าน อาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสารตั้งแต่จุดตรวจคนเข้าเมือง ระบบรับกระเป๋า ไปจนถึงการเปิดใช้ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) รวมถึงการนำระบบไบโอเมตริกพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (biometric) มาใช้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร
ส่วนระยะกลาง จะเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสนามบินหลักของประเทศ และระยะยาว จะมุ่งเน้นการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ รวมถึงเดินหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเพิ่มอาคารผู้โดยสาร หรือขยายรันเวย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้อยู่ในแผนพัฒนาของ ทอท.ที่วางไว้ก่อนหน้า ขณะเดียวกัน จะเร่งรัดผลักดันอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนต่อไป
“ช่วงที่ผ่านมา ทอท.ได้เปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งเพิ่มศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ต่อเนื่องด้วยแผนขยายโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) มูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท เวลาดำเนินการ 3 ปี เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณผู้โดยสารปัจจุบันที่ 65 ล้านคนต่อปี จะทำให้สุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้เป็น 80 ล้านคนต่อปี”
ขณะที่การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) มูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท จะช่วยรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 70 ล้านคนต่อปี โดยอาคารจะเป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือสร้างห้างสรรพสินค้าใกล้อาคารผู้โดยสาร และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เมื่อนำมารวมกับขีดความสามารถปัจจุบัน จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี
ในส่วนของสนามบินดอนเมือง ก็มีแผนที่จะขยายในระยะที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี มีเป้าหมายที่จะทำให้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินหลักรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ก่อสร้างอาคาร Junction Building เชื่อมต่อกับระบบรถไฟสายสีแดง พื้นที่จอดรถยนต์ พื้นที่สันทนาการ และพื้นที่พาณิชย์อื่นๆ
นายกีรติยังได้ขยายความต่อว่า การจะทำให้สนามบิน ทอท.ทั้ง 6 แห่งก้าวไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการบินในภูมิภาค จะต้องเร่งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร โดย ทอท.ได้นำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารทั้ง 6 สนามบิน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอย และบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน
“ปัจจุบัน ทอท.ได้ติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) จำนวน 250 เครื่อง ซึ่งช่วยลดเวลาในการเช็กอินจากเดิมเฉลี่ย 20 นาที เหลือน้อยกว่า 1 นาที อีกทั้งยังติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) เพิ่มจำนวน 40 จุด ติดตั้งช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 จุด และจะเพิ่มเป็น 120 จุดในอนาคต ซึ่งทำให้ ลดเวลาการคอยคิวตรวจหนังสือเดินทางลงจากเดิมเฉลี่ย 15 นาที เหลือน้อยกว่า 2 นาที”
ขณะเดียวกัน ทอท.ยังมีเป้าหมายที่จะเปิดใช้ระบบ Auto gate ทั้งหมดสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ เหมือนกับสนามบินชางงี ที่ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้ง ทอท.ยังได้เตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา หากศึกษาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในช่วงเดือน ก.พ.2568
“ทอท.ยังได้หารือร่วมกับสนามบินชางงี ซึ่งเป็นสนามบินที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นอันดับต้นๆของโลกในการพัฒนาสนามบินสีเขียว (Green Airport) เพื่อที่จะนำมาปรับใช้ในสนามบินที่ ทอท.ดูแลอยู่ โดย ทอท.มีแผนจะร่วมมือกับสนามบินชางงีในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Aviation Fuel: SAF) รวมถึงยังหารือกันถึงแผนการใช้พลังงานสะอาด โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในสนามบิน ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีจะลดการใช้พลังงานช่วงกลางวันเป็นศูนย์ (Day time energy)”
ทอท.ยังมีแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ควบคู่ไปกับการศึกษาแผนก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินอันดามัน ในพื้นที่ จังหวัดพังงา วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างสนามบินล้านนา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท รวมทั้งการศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่จอดอากาศยานขึ้น-ลงในทะเลอีกด้วย
ท้ายที่สุด นายกีรติยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ในรอบ 12 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 ว่า ทอท.มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 19,182.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,391.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 118.21% เทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้รวม 67,827.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.01% รายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 18,980.38 ล้านบาท คิดเป็น 39.43% แบ่งเป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 31,000.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,734.64 ล้านบาท คิดเป็น 39.23% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 36,120.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,245.74 ล้านบาท คิดเป็น 39.60% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 40,524.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,276.70 ล้านบาท หรือ 18.33% ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้รวม ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานลดลงจาก 70.08% ในปีก่อนเป็น 59.71% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของ ทอท.
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ของปีงบประมาณ 2567 นั้น มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01%
นายกีรติยังกล่าวเสริมอย่างมั่นใจว่า จากสถานการณ์การบินและปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มในปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งตอกย้ำประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ที่คาดการณ์ว่า
ในปี 2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เทียบกับปี 2567 ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% ซึ่งสอดคล้องกับแผนเดินหน้าพัฒนาสนามบินของ ทอท. ที่มุ่งมั่นในการตอบโจทย์การขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม