ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสำคัญไฉน?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสำคัญไฉน?

Date Time: 12 พ.ย. 2567 06:05 น.

Summary

  • บทบาทของ ธปท.ที่ต้องช่วยดูแลกระเป๋าเงินของพี่น้องประชาชนด้วย มิใช่ดูแลเฉพาะกระเป๋าเงินของสถาบันการเงินให้เกิดความมั่งคั่งเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก คือ ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับประชาชน และดอกเบี้ยนโยบาย มีความห่างกันมาก

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

นั่นเป็นเพราะรายชื่อที่กระทรวงการคลังได้เสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ให้คณะกรรมการสรรหาและคัดเลือก ที่มี นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาบุคคลเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นตัวเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”

ขณะที่ ธปท.ที่มีสิทธิ์เสนอชื่อ 2 เท่าของกระทรวงการคลัง ได้เสนอ นายกุลิศ สมบัติสิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นตัวเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เช่นกัน

แต่เหตุแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงนั้น เป็นเพราะมีความกังวลว่า “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ จะเป็นคนที่ฝ่ายการเมืองส่งเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ ธปท. ซึ่งต้องมีการทำงานอย่างเป็นอิสระ

เป็นเพราะว่า ภาพของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” แม้คุณสมบัติจะผ่าน ไม่มีคดีติดตัวแล้ว และไม่เป็นบุคคล

ที่ไม่มีความสามารถ เพียงแต่ไม่สามารถสลัดภาพความเป็น “คนการเมือง” ได้เลย เนื่องจากการทำงานของ “กิตติรัตน์” ยังคงวนเวียนเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าการเมืองจะเข้าแทรกแซงการทำงานของ ธปท.

อีกทั้งตลอดระยะเวลาการเข้ามาบริหารงานรัฐบาล ที่มีแกนนำจาก “พรรคเพื่อไทย” ต่างถาโถมสาดความเห็นที่แตกต่างไปยัง ธปท. โดยเฉพาะประเด็นการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งฝั่งการเมืองต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ ธปท.ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ยังไม่ถึงเวลาเหมาะสม

ส่วนประเด็นที่มองว่า การเข้ามาของ “ประธาน บอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ จะเข้ามาปลดผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน และเลือกผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ รวมถึงการเข้ามาใช้เงินทุนสำรอง เพื่อให้รัฐบาลมีเงินไปใช้นั้น

แต่ในความเป็นจริง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนเดียวไม่มีอำนาจเต็มที่จะตัดสินใจอะไรได้!!!

เนื่องจากโครงสร้างของกรรมการ ธปท.มาจากหลายภาคส่วน และส่วนใหญ่เป็นบุคคลอันทรงเกียรติ เชื่อว่าไม่มีใครครอบงำได้ และมีความอิสระทางความคิด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นแน่แท้

เพราะฉะนั้น “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ เพราะการทำงานทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และ ธปท.เป็นองค์กรอิสระ ต้องปลอดจากการแทรกแซงจากการเมือง

และด้วยความเป็นอิสระของ ธปท.นั่นเอง ที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า “อิสระ” มากเกินจนล้น ทำให้การบริหารจัดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำไม่ได้เต็มที่ จนถูกกล่าวหาว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อเทียบอัตราการเติบโตแล้วเศรษฐกิจเติบโตเกือบต่ำสุดในอาเซียน

ขณะที่บทบาทของ ธปท.ที่ต้องช่วยดูแลกระเป๋าเงินของพี่น้องประชาชนด้วย มิใช่ดูแลเฉพาะกระเป๋าเงินของสถาบันการเงินให้เกิดความมั่งคั่งเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก คือ ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับประชาชน และดอกเบี้ยนโยบาย มีความห่างกันมาก

โดยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันมาก ระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยนโยบายนั้น ซึ่งกระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณเรื่องช่องว่างของอัตราดอกเบี้ย ไปยัง ธปท.หลายครั้ง ให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินครัวเรือนของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจด้วย แต่ ธปท.เมินเฉยต่อความเห็นนี้มาตลอด

เมื่อใดที่สถาบันการเงินประกาศผลประกอบการ มีกำไรอู้ฟู่!!! เมื่อนั้น ธปท.จะถูกก่นด่าว่า ปล่อยให้แบงก์กำไรหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท!! ขณะที่ประชาชนมีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ครัวเรือนของประเทศแตะ 90% ของจีดีพี

ขณะที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการการคลังมาดูแลประชาชนจนหมดหน้าตักแล้ว แต่มาตรการทางการเงิน ไม่มีอะไรออกมาเลย ทั้งๆที่มาตรการการคลัง และมาตรการทางการเงินจะต้องออกมาควบคู่กันไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน!!

ดวงพร อุดมทิพย์

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ