เปิดรับฟังความคิดเห็น 3 แนวทาง ค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟทีงวดเดือนม.ค.–เม.ย.ปีหน้า นำเสนอเลขค่าไฟฟ้ารวมทั้งค่าไฟฟ้าเอฟทีและค่าไฟฟ้าฐานที่ 4.18–5.49 บาทต่อหน่วย แจงหากทยอยจ่ายเงินคืนให้ กฟผ.อาจตรึงราคาค่าไฟฟ้ารวมไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเหมือนปัจจุบัน
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ.ได้มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ต่างประกอบด้วย
กรณีแรก ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีเพื่อคืนต้นทุนคงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เต็มจำนวน รวมค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชน ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-ส.ค. 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤติของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติจะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 31% ทำให้ค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 5.49 บาทต่อหน่วย
ส่วนกรณีที่สอง ค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 26% จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้ารวมจะเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย กรณีที่สาม ตรึงค่าเอฟทีไว้ที่ระดับปัจจุบัน โดยทยอยคืนต้นทุน ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
ขณะเดียวกันจากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.27 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (งวด ก.ย.-ธ.ค. 2567) เป็น 33.36 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ในตลาดโลกปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากงวดก่อนหน้า 0.2 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู และปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งอ่าวไทย ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มต้นทุนจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมดีขึ้น ส่งผลต่อแรงกดดันต่อการเพิ่มค่าไฟลดลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ยังคงมาจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจากงวดก่อนหน้าบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงและต้องได้รับการดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย
ทั้งนี้ จากสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลง แต่เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าที่ยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงต้นปี 2568 นี้ อาจจะต้องปรับเพิ่มค่าเอฟทีขึ้นสู่ระดับ 147.53-170.71 สต.ต่อหน่วย เพื่อคืนหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. และ ปตท. ซึ่งทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ม.ค.-เม.ย.2568 เพิ่มขึ้นเป็น 5.26-5.49 บาทต่อหน่วย หรือหากตรึงค่าเอฟทีไว้ที่ 39.72 สต.ต่อหน่วย โดยทยอยคืนหนี้คงค้างควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อการปรับค่าไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อลดภาระของประชาชน ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่ากับปัจจุบัน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่