ไทยมีความหวัง “คนจนหลายมิติ”  ลดลงมากที่สุดในอาเซียน แม้ความเหลื่อมล้ำสูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยมีความหวัง “คนจนหลายมิติ” ลดลงมากที่สุดในอาเซียน แม้ความเหลื่อมล้ำสูง

Date Time: 5 พ.ย. 2567 12:12 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผย ไทยแก้ปัญหาความยากจนมีประสิทธิภาพที่สุดในอาเซียน ผ่านมา 7 ปี คนจนหลายมิติลดลงเหลือ 352,000 คน ส่วนใหญ่เข้าถึงปัจจัยสี่ จับตาผลกระทบสงคราม-ความขัดแย้ง ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ดึงคนกลับมาจนเพิ่ม

Latest


สถานการณ์ความยากจนทั่วโลกปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความยากจนในหลายมิติทั่วโลกประจำปี 2567 ซึ่งทำการสำรวจคน 6.3 พันล้านคนใน 112 ประเทศ ระหว่างปี 2012-2023 เพื่อนำเสนอข้อมูลความทับซ้อนระหว่างความยากจนกับความขัดแย้ง เพื่อชี้ให้เห็นความยากจนที่ไม่ใช่แค่ในมิติของรายได้ แต่เป็นการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง

โดยแบ่งออกเป็น 10 มิติ เช่น การเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม สุขอนามัย และไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้มีอำนาจจัดสรรทรัพยากรได้อย่างตรงจุด และออกแบบนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากรายงานพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • มีประชากร 1.1 พันล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะยากจนหลายมิติและกว่า 40% อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสงคราม ความเปราะบางหรือขาดสันติภาพ
  • 83.2% ของคนจนหลายมิติอาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) และเอเชียใต้ (South Asia)
  • คนจนหลายมิติมากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี คนจนหลายมิติส่วนใหญ่ขาดการเข้าถึงสุขาภิบาล ที่อยู่อาศัย และเชื้อเพลิงทำอาหาร
  • คนจนหลายมิติมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่ขาดสารอาหาร
  • ความยากจนในพื้นที่สงครามรุนแรงกว่าในประเทศที่สงบสุขถึง 3 เท่า ตัวอย่างเช่น อัฟกานิสถานเพียงประเทศเดียวมีประชากร 5.3 ล้านคนที่ตกอยู่ในความยากจนระหว่างปี 2015-2023

จะเห็นได้ว่าสงครามและความขัดแย้งเป็นอุปสรรคต่อการขจัดความยากจน ในขณะเดียวกันหากแนวโน้มดังกล่าวดำเนินต่อไปคาดว่าจะทำให้ความยากจนกลับมารุนแรงขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากสงครามและความขัดแย้งไม่เพียงทำลายชีวิต แต่รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้โลกถดถอยต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างไม่จำเป็น

“ไทย” คนจนลดลงมากที่สุดในอาเซียน

สำหรับไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาความยากจนในหลายมิติมากที่สุด โดยไทยสามารถลดจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในความยากจนหลายมิติได้ถึงครึ่งภายในเวลา 7 ปี จำนวนคนยากจนในหลายมิติลดลงจาก 909,000 ในปี 2012 เหลือ 416,000 ในปี 2019 และ 352,000 ในปี 2022 โดยดัชนีอยู่ที่ 0.002 ต่ำที่สุดในอาเซียน ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยแก้ปัญหาความยากจนหลายมิติได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่ได้รับการสำรวจ

อันดับความก้าวหน้าของประเทศอาเซียนในการลดความยากจนตามดัชนี MPI

1. ไทย (0.002) 2. เวียดนาม (0.008) 3. อินโดนีเซีย (0.014) 4. ฟิลิปปินส์ (0.016) 5. กัมพูชา (0.070) 6. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (0.108) 7. เมียนมาร์ (0.176) ตามข้อมูลล่าสุดจากปี 2015

ถึงแม้ว่าในภาพรวมประเทศไทยจะก้าวหน้ามาอย่างมากในแง่การบรรเทาความยากจน แต่ความยากจนหลายมิติในไทยนั้นมีสูงกว่าความยากจนในด้านการเงิน (monetary poverty) 0.5 จุด ซึ่งหมายความว่าผู้คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนทางการเงินยังคงประสบความขาดแคลนในด้านสุขภาพ การศึกษา และ/หรือมาตรฐานการใช้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ความยากจนหลายมิติยังคงแพร่หลายในพื้นที่ชนบทระดับภูมิภาค

อาเซียนร่วมใจ ขจัดความยากจน

รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกและการนำเข้าซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า GDP ทั้งประเทศ เนื่องจากมีภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ หมายความว่ายิ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่าไร เศรษฐกิจไทยยิ่งได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นเพื่อขจัดความยากจน ไทยต้องบริหารความเสี่ยงปัจจัยภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการรักษาจุดยืนความเป็นกลางทางการทูต ส่งเสริมความร่วมมือภูมิภาคให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะอาเซียน ในอนาคตความร่วมมือระดับภูมิภาคจะมีความสำคัญมากกว่าความร่วมมือระดับโลก ไทยจึงต้องขยายความร่วมมือทุกด้านไม่จำกัดแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการรับมือกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ