ทำไม..คนกังวลตั้งประธาน ธปท.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทำไม..คนกังวลตั้งประธาน ธปท.

Date Time: 5 พ.ย. 2567 05:12 น.

Summary

  • ไม่ว่า “ผู้ที่ได้รับเลือก” จะเป็นใครคงต้องพิสูจน์การทำหน้าที่ ที่จะสะท้อนความในใจให้สังคมได้เห็น เพราะในที่สุดหากเกิดการแทรกแซงจากการเมืองจริง เชื่อว่าจะมีคนมากกว่านี้ออกมาคัดค้าน และสุดท้ายอาจกลายเป็น “เรื่องใหญ่” กว่าที่ใครจะนึกถึง

Latest

โรงแรมไทยฟื้นตัวรับไฮซีซั่น วอนรัฐดูแลทุนสีเทาแข่งขัน-ฉุดภาพลักษณ์ประเทศ

เนื่องจากเป็นการเขียนคอลัมน์ล่วงหน้า ทำให้ไม่แน่ใจว่า วันที่ได้อ่านคอลัมน์นี้ เราได้ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่แล้วหรือยัง และเป็นคนที่คาดการณ์และมีเสียงคัดค้านมาต่อเนื่องหรือไม่

ซึ่งในกรณีนี้ สำหรับ “มิสเตอร์พี” ซึ่งเคยวนเวียนอยู่แถววังบางขุนพรหมช่วงหนึ่ง มองว่าตำแหน่ง “ประธานบอร์ด ธปท.” และคณะกรรมการ ธปท.ไม่ใช่เป็นเพียงบอร์ดค่าน้ำค่าไฟอย่างที่พูดกัน แต่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ มีเกียรติ เป็นตำแหน่งที่ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม อิงประโยชน์ของประชาชนมากกว่าพวกพ้อง ที่สำคัญต้องเข้าใจหัวใจ และหลักการสำคัญของ ธปท.ที่เน้นดูแลเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเงินของประเทศ

รวมทั้งต้องเข้าใจหลักการสำคัญใน “การเป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงจากการเมือง” ของ ธปท.ด้วย การตัดสินใจใดๆในฐานะประธานบอร์ด ธปท.ต้องเป็นกลางทางการเมือง และไม่กระทำหรือเปลี่ยนเงื่อนไขหลักเกณฑ์อะไรที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และฐานะทางการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ หลังจากอ่านจดหมายเปิดผนึกจากอดีตพนักงาน ธปท.683 คน ซึ่งในนั้นมีอดีตรองผู้ว่าการ 4 คน ผู้ช่วยผู้ว่าการ 12 คน ที่เหลือเป็นพนักงานเก่า ยังไม่นับอดีตผู้ว่าการอีก 4 คนที่ออกมาก่อนหน้า พบว่า ความกังวลของคนเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะแม้ว่าคณะกรรมการ ธปท.จะไม่มีบทบาทหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน และสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน และคณะกรรมการรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯขึ้นไป

ดังนั้น ตามปกติเมื่อ ธปท.มีการคัดเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งในการดำรงตำแหน่งใด การเสนอบอร์ดจะเป็นการเสนอเพื่อพิจารณา ไม่ได้เสนอเพื่อทราบ ทำให้ในหลักการคณะกรรมการ ธปท. จะอนุมัติการคัดเลือกหรือแต่งตั้งนั้น หรือไม่อนุมัติก็ได้ แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ธปท.จะไม่คัดค้าน หรือเข้ามาก้าวก่ายการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้และอีกประเด็นหนึ่งที่หนังสือเปิดผนึกแสดงความกังวล มาจากอำนาจของคณะกรรมการ ธปท.ที่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศได้

ซึ่งเมื่อพูดถึงการปรับเกณฑ์การบริหารทุนสำรองฯ ย่อมเกิดความกังวลว่าจะมีการปรับเกณฑ์เพื่อนำทุนสำรองฯ ไปใช้ในกรณีต่างๆที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) เพราะที่ผ่านมา SWF ที่ตั้งขึ้นในหลายประเทศก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป

แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความกังวลใจ ยังไม่ได้เกิดขึ้น และอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ดังนั้น ไม่ว่า “ผู้ที่ได้รับเลือก” จะเป็นใครคงต้องพิสูจน์การทำหน้าที่ ที่จะสะท้อนความในใจให้สังคมได้เห็น เพราะในที่สุดหากเกิดการแทรกแซงจากการเมืองจริง เชื่อว่าจะมีคนมากกว่านี้ออกมาคัดค้าน และสุดท้ายอาจกลายเป็น “เรื่องใหญ่” กว่าที่ใครจะนึกถึง.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ