“แพทองธาร” พร้อมสนับสนุนทุกภาคธุรกิจเติบโต มีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงและความเจริญเติบโตของประเทศ ขณะที่ 3 กูรูเศรษฐกิจฉายภาพประเทศไทยยังฟื้นช้า ย้ำประเด็น “หนี้ครัวเรือน” เหนี่ยวรั้งการเติบโต วอนขอมาตรการกระตุ้นบริโภค “คูณสอง” คล้ายคนละครึ่ง และมาตรการลดหย่อนภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 “Thailand 2025 : Opportunities, Challenges and the Future” พร้อมพิธีมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ “CEO” โดยหลังจากมอบเป็นประธานในการมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายก รัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นไหนก็ได้ที่มีความตั้งใจความพยายามในการทำธุรกิจให้เติบโต เพราะมีส่วนสร้างความมั่นคง ความเจริญเติบโตของประเทศ ทุกคนมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมั่นคงรัฐบาลมั่นคง การบริหารงานของซีอีโอมีความหมายและเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชนรุ่นเด็กๆน้องๆที่มองเห็น โดยเชื่อว่ารางวัลในวันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดัน เพราะรู้ว่ามีรางวัลรออยู่ข้างหน้า
“วันนี้ทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับอุปสรรคทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว ทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เข้ามา รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ให้ทุกคนและภาคธุรกิจมีความรู้เข้าถึงข้อมูลต่างๆให้ได้มากที่สุด และรัฐบาลมีนโยบายต่างๆที่จะช่วยลดต้นทุนให้ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป และพร้อมรับฟังข้อมูลและปัญหาจากทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดยิ่งขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนให้ดีที่สุด”
เอกชน “ห่วงหนี้ครัวเรือน” ฉุดเศรษฐกิจ
จากนั้น สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดเสวนาจากผู้นำภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย นาย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568” โดยนายผยงกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยปี 67 ว่าจะขยายตัวที่ 2.7-2.8% ขณะที่ ปัจจัยสนับสนุนคือช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปี และมาจากแรงกระตุ้นของมาตรการรัฐ เช่น การแจกเงิน 10,000 บาท และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นกลไกที่เริ่มต้นทำงาน แต่ปัญหาของไทยคือหนี้ครัวเรือนที่มาเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย โดยต้องติดตามในช่วงก่อนสิ้นปี 2567 นี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนออกมาเพิ่มเติม
“เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เป็นมาตรการใหญ่ก่อนช่วงสิ้นปีนี้ แต่ไม่อยากให้เป็นการกระตุ้น อยากให้เป็นการกระตุก เป็นแรงผลักดันเป็นโมเมนตัมสู่ปีหน้าและปีต่อๆไป ซึ่งหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ที่ต่อเนื่องไปในปี 2568 และส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงต้องมีข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อแก้ให้ครบทุกจุด”
ด้านนายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะเติบโต 2.7% ตามที่ กกร.คาดการณ์ โดยภาคเอกชนกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนมาเหนี่ยวรั้ง เพราะแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะดีขึ้นจากเกือบ 91% มาเป็น 89.6% แต่เกิดจากการลดวงเงินปล่อยกู้ นอกจากนั้น ภาคอุตสาหกรรมอยากให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้ทะลัก เข้ามาจนกระทบถึงภาคการผลิต อีกปัญหาคือ สังคมสูงวัยที่กระทบต่อแรงงาน ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ขณะที่ต้องจับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวสำคัญทำให้รู้ว่าทิศทางส่งออกไทยเป็นอย่างไร
“เราติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน 40-50 ปีที่ผ่านมาความสามารถแข่งขันลดลง ขณะที่ 10 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยของจีดีพีไทยอยู่ที่ 1.92% แต่ประเทศเพื่อนบ้านโต 5-7% การแก้ไขคือ ต้องปรับโครงสร้างการผลิต และอุตสาหกรรมทั้งหมด ต้องทำให้คนมีรายได้เพิ่ม ทำให้หนี้ลดลง โดยปี 2568 มองว่าจะเกิดการแข่งขันรุนแรงขึ้น สิ่งที่สินค้าไทยผลิตได้ จีนก็ผลิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปแข่งขันเพราะยาก ต้องมองจีนไม่ใช่คู่แข่ง แต่ต้องเป็นคู่ค้า”
ขอเบิ้ลมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย “คูณสอง”
ขณะที่นายสนั่นกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดอยู่ที่ 2.6-2.7% และ กกร.เห็นว่ารัฐบาลควรจะผลักดันเศรษฐกิจต่อ โดยเสนอรัฐบาลควรมีมาตรการคูณสอง กระตุ้นการใช้จ่ายคล้ายกับคนละครึ่ง จากนั้นเป็นมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt กระตุ้นการจับจ่ายของคนมีรายได้ในช่วงปลายปีนี้ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการ ส่งเสริมที่ดี และกระตุ้นการบริโภคประชาชน รวมทั้งเสนอรัฐบาลช่วยกลุ่มเปราะบาง คนเดือดร้อน โดยเฉพาะหากคนใช้รถกระบะทำมาหากิน แต่ถูกยึดรถไป ทำให้กลุ่มนี้เดือดร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ขณะที่ในปี 68 สิ่งที่สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมรัฐบาลและธุรกิจให้ก้าวต่อไปข้างหน้า โดยต้องติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยจะต้องเป็นมิตร ไทยต้องวางตัวเป็นกลางและมีเสน่ห์หลายเรื่อง โดยเฉพาะการเข้าเป็นสมาชิกทั้ง OECD และ BRICS รวมทั้งต้องแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัยล้าหลัง เพื่อกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย
ขุนคลังรุกเพิ่มลงทุน–คนไทย มีเงินมากขึ้น
ปิดท้ายงานด้วยกล่าวปาฐกถาพิเศษของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หัวข้อ “Thailand 2025 : Opportunities, Challenges and the Future” ระบุว่า ในปีหน้าต้องการเห็นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โต 3%อัตราเงินเฟ้อควรอยู่ที่ 2% โดยถึงเวลาที่เราจะต้องเลือกว่าจะอยู่กับราคาสินค้าถูก แต่คนไม่มีเงิน หรือมีเงินน้อย หรือเลือกราคาสินค้าแพงขึ้น แต่มีเงินมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ การจะผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงขึ้น จำเป็นต้องผลักดันการลงทุนในประเทศ ซึ่งสภาพคล่องภายในประเทศมีเพียงพอสนับสนุนการลงทุน แต่การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาต่ำ จึงกลายเป็นประเทศที่ฐานะดีแต่การลงทุนน้อย เป็นเศรษฐีที่ไม่มีอนาคต
“ทิศทางการลงทุนไทยต้องสอดคล้องกับทิศทางโลก ลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะของคน ซึ่งปัจจุบัน Ranking ด้านการศึกษาเราต่ำกว่าเพื่อนบ้าน แต่ข้อดีในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติการลงทุนแล้วรวม 2 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี และรัฐบาลชุดนี้สนับสนุนการให้เช่าที่ดิน 99 ปี เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจว่ามีเวลาคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเอกชนไทยอยากให้เช่าที่ดินให้กับต่างชาติ สามารถใช้แนวทางยกที่ดินนั้นให้แก่รัฐก่อน ทำให้กรรมสิทธิ์เป็นของรัฐ แล้วใช้กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์ เพื่อให้ต่างชาติมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ รวมทั้งยังผลักดันให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ซึ่งปัจจุบันต้นทุนสูงถึง 18% ของจีดีพี
นายพิชัยกล่าวต่อถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน อย่างน้อยหนี้ไม่ลด แต่ภาระลด มีโอกาสที่จะจ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง เช่นเดียวกับที่ธนาคารออมสินดำเนินการมา ใช้จังหวะที่แบงก์แข็งแรงมาช่วย โดยที่ผ่านมาได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะรถกระบะ และอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆนี้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่