พาณิชย์ถกเข้ม แก้เอสเอ็มอี สั่งสกัดนอมินี ธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ของไร้คุณภาพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์ถกเข้ม แก้เอสเอ็มอี สั่งสกัดนอมินี ธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ของไร้คุณภาพ

Date Time: 31 ต.ค. 2567 07:40 น.

Summary

  • “พิชัย” ประชุม “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” นัดแรก สั่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดแก้ปัญหาเอสเอ็มอี-นอมินี ให้ “นภินทร” รมช.พาณิชย์ นั่งเป็นประธาน พร้อมย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมกำลังแก้ปัญหา

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

“พิชัย” ประชุม “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” นัดแรก สั่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดแก้ปัญหาเอสเอ็มอี-นอมินี ให้ “นภินทร” รมช.พาณิชย์ นั่งเป็นประธาน พร้อมย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมกำลังแก้ปัญหา คาดสำเร็จใน 30 วัน นัดประชุมรอบต่อไปเดือน ธ.ค.นี้ ติดตามผล พร้อมเผย TEMU เตรียมจดทะเบียนในไทยเร็วๆนี้ ขณะที่กรมศุลกากร-อย.-สมอ.-สคบ.ชี้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้ามากขึ้น สกัดสินค้าด้อยคุณภาพและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/67 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายพิชัยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก เป็นการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาในส่วนที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ละหน่วยงานได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าตั้งแต่ด่านศุลกากร เพื่อป้องกันการนำเข้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน ทั้งของมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคไทย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้น 2 ชุด มีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน คือ คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ช่วยเหลือเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน ส่งเสริมศักยภาพให้เอสเอ็มอีไทยสามารถทำธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ รวมถึงคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหานอมินี (คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อช่วยให้เลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542) เพื่อแก้ปัญหาคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยผิดกฎหมาย

“การนำเข้าสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐานและการทำธุรกิจของต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายไทย เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยและธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายก รัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาโดยด่วน ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังช่วยกันแก้ปัญหา คาดว่าจะแก้ปัญหาได้สำ เร็จในไม่เกิน 30 วัน และจะมีการประชุมคณะกรรมการอีกครั้งในเดือน ธ.ค. ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ TEMU ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคไทย ล่าสุดทราบว่ากำลังจะเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจในไทยแล้ว” นายพิชัยกล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้แทนจากกรมศุลการ อย. สคบ. และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ให้ข้อมูลถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้แทนกรมศุลการกล่าวว่า ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามากขึ้นกว่าเดิมที่เข้มงวดอยู่แล้ว เพื่อสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ ได้ร่วมกับ สมอ.ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและกำหนดให้ทุกสินค้าที่จะนำเข้า แม้ได้มาตรฐาน มอก.อยู่แล้วยังต้องขออนุญาตนำเข้า จากเดิมที่ไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้งยังได้สแกนสินค้านำเข้า 100% ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบ 30%

ทางด้านผู้แทนจาก อย. กล่าวว่า อย.ตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้นเช่นกันและแก้ไขกฎหมายการนำสินค้าติดตัว (ของใช้ส่วนตัว) เข้าไทยในกลุ่มสินค้านำร่อง คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง จากเดิมให้นำสินค้าติดตัวในปริมาณที่กำหนดสำหรับใช้ภายใน 90 วัน และต้องไม่เคยนำเข้ามาก่อนในระยะเวลา 90 วัน แต่ได้แก้ไขใหม่โดยให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากเดิม เร็วๆนี้จะขยายไปยังกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พร้อมกันนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าที่วางขายในไทยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทุกสัปดาห์

ขณะที่ผู้แทนจาก สมอ.กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นมา สมอ.ได้ยกเลิก Exempt 5 (สินค้าที่ สมอ.ควบคุม 144 รายการ สามารถนำเข้าได้ไม่ต้องขออนุญาต หากไม่ได้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายและไม่เกินจำนวนที่ สมอ.กำหนด) ทำให้การนำเข้าสินค้าควบคุม 144 รายการ ต้องขออนุญาตทุกกรณีไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด หรือนำเข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น เพื่อสกัดสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐาน ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาในพื้นที่เขตปลอดอากร (ฟรี เทรด โซน) หากจะนำออกจากพื้นที่ก็ต้องขออนุญาตด้วย

ผู้แทน สคบ.กล่าวว่า สคบ.จะดูแลฉลากสินค้าและความปลอดภัยของสินค้าเครื่องใช้ต่างๆ สินค้าที่ผลิตและนำเข้าเพื่อขายในประเทศต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบก่อนวางขาย ยกเว้นสินค้าที่ อย.ดูแล ส่วนสินค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศและมีผู้ให้บริการขนส่งส่งสินค้าถึงผู้บริโภคนั้น จะให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่า ตามพิธีการศุลกากร มีผู้ที่เกี่ยวข้องคือใครบ้าง แต่ในอนาคต อาจทำความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม หรือปรับปรุงกฎหมายว่า การนำเสนอขายสินค้าต้องมีรายละเอียดของสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มด้วย กรณีที่พบว่าสินค้าที่ขายเกิดอันตรายจะส่งไปตรวจพิสูจน์และออกประกาศเตือนผู้บริโภค หรืออาจถึงขึ้นห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่าย สำหรับกรณีซื้อสินค้าและเก็บเงินปลายทาง ผู้บริโภคสามารถเปิดสินค้าตรวจสอบได้เลย ถ้าไม่พอใจสามารถคืนให้ผู้ขนส่ง และจะได้รับเงินคืนภายใน 5 วัน

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ