เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการเลือกตั้งสหรัฐฯครั้งใหม่ วันที่ 5 พ.ย.นี้ และเป็นการเลือกตั้งที่ทั่วโลกจับตา เมื่อพญาอินทรีเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ ย่อมส่งแรงกระเพื่อมต่อประเทศที่เหลือในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาอีกสมัย เพื่อสานต่อนโยบายสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง
ทั้งนี้ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้มีการประเมินฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย หากประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งว่า จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรในปี 2568 ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีที่รองประธานาธิบดีแฮร์ริสชนะ ซึ่งคงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก
เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากประธานาธิบดีไบเดน
เริ่มจากภาพรวมของเศรษฐกิจ คาดกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯปีหน้าภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะปิดประตูเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะทรัมป์มีนโยบายที่จะลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐฯเพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรง รวมทั้งกดดันให้มีการลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดกันไว้ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตขึ้น ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯโตดีก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกให้ยังขยายตัวตามไปด้วย
นอกจากนั้น ในส่วนของราคาน้ำมันดิบโลก หากทรัมป์มา ราคาก็มีโอกาสลดลงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น และการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทยและจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ
แต่ที่สำคัญคือด้านการค้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะทวีความรุนแรงขึ้น ภายใต้นโยบายภาษีสินค้านำเข้าและข้อจำกัดทางการค้า ทรัมป์จะกำหนดภาษีนำเข้า 60% สำหรับสินค้าจีน ซึ่งทำให้การค้าระหว่างสองประเทศลดฮวบ เกิดการไหลออกของเงินทุน และการย้ายฐานอุตสาหกรรม ทำให้บางบริษัทอาจย้ายมาไทย ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องจักรและดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของจีนในภูมิภาค แต่การย้ายฐานนี้จะไม่สามารถชดเชยการลดลงของการค้าของโลกได้ เมื่อจีนส่งออกลดลง จีนจะลดการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน ขณะที่ภาคเกษตรของไทยยังมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อไทย ทำให้การส่งออกของไทยโตต่ำกว่าที่คาดไว้ และโตต่ำกว่ากรณที่แฮร์ริสชนะ
เมื่อการส่งออกของไทยชะลอ ก็จะมีผลต่อเนื่องถึงการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตช้าลงด้วย ขณะที่รายได้ภาคเกษตรที่ลดลงอาจจะกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและท้ายที่สุดหากมองถึงความเสี่ยง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบายของทรัมป์น่าจะสร้างความผันผวนมากกว่ากรณีของแฮร์ริส
ดังนั้น หากให้สรุปว่า “ทรัมป์” หรือ “แฮร์ริส” ดีกว่าไทยมากกว่ากัน สำนักวิจัยฯมองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 2.5% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับ 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม