บอร์ดดีอีเดินหน้านโยบายรัฐบาลดิจิทัลเต็มสูบ ลุยใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ e-Office ภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ตั้งเป้าหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ใช้งานระบบได้ 3 ล้านคน ภายในปี 2570
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2567 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาแนวทางการดำเนินการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ e-Office ภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service หรือ GDCC) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต จากความต้องการใช้งานระบบ e-Office ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการวิเคราะห์ตัวเลขของหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วน ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายผู้ใช้งานระบบได้ 3 ล้านคน ภายในปี 2570
นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เห็นชอบการเร่งรัดขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยให้ภารกิจการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเร่งรัดบูรณาการและขับเคลื่อนระบบกล้องโทรทรรศน์วงจรปิดหรือ CCTV ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการประมวลผลและใช้ประโยชน์จากระบบกล้องโทรทรรศน์วงจรปิด (CCTV) โดยมี รมว.ดีอีเป็นประธาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย สามารถบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทรรศน์วงจรปิดทั่วประเทศ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย (Digital ID) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2568-2570) และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการ พร้อมทั้งติดตามและประเมินผล ตลอดจนได้เห็นชอบแนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร (AI Governance Guideline for Executive) ของ ETDA โดยมอบหมายให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป”
ส่วนแนวทางการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหลนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เสนอบอร์ดและ ครม.พิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศเป็นแนวทางดำเนินการต่อไป.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม