รอลุ้นแบงก์ลดดอกเบี้ยตาม กนง.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รอลุ้นแบงก์ลดดอกเบี้ยตาม กนง.

Date Time: 22 ต.ค. 2567 05:30 น.

Summary

  • ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% โดยให้มีผลทันที ส่งผลให้บรรยากาศความตึงเครียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยผ่อนคลายลงบ้าง

Latest

โรงแรมไทยฟื้นตัวรับไฮซีซั่น วอนรัฐดูแลทุนสีเทาแข่งขัน-ฉุดภาพลักษณ์ประเทศ

ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% โดยให้มีผลทันที ส่งผลให้บรรยากาศความตึงเครียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยผ่อนคลายลงบ้าง

โดย กนง.ให้เหตุผลของการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ไว้ 3 เรื่อง 2 เรื่องแรกมาจากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า แม้รัฐบาลจะเร่งการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2567 และมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายระลอกแรกด้วยการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับกลุ่มคนเปราะบาง 14.5 ล้านคน

แต่ยังไม่มีผลทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเร่งตัวสูงขึ้นมาก โดยคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.7% และในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.9% นอกจากนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นมากเช่นกัน โดยทั้งปีนี้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% จากระยะเดียวกันปีก่อนเท่านั้น

ขณะที่ข้อที่ 3 ซึ่งกนง.บอกว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด คือ การเห็นสถานะทางการเงินของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจไทยตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเท่าเดิม แต่มีหนี้ มีภาระต้องผ่อนส่งในระดับสูง ส่งผลให้คนจำนวนมากเริ่มมีปัญหาผ่อนส่งหนี้ไม่ไหว ขณะที่การขอสินเชื่อใหม่ทำได้ยาก สอดคล้องกับยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3 ที่ขยายตัวลดลงแทบทุกแห่ง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า “ตั้งแต่การประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา และในการประชุมครั้งนี้หารือกันมากถึงภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น จากรายได้ของครัวเรือนที่ยังไม่กลับมา ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ยากขึ้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของประชาชนลงได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ในสถานการณ์ที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง”

ในขณะที่ฝั่งรัฐบาล นอกเหนือจากหวังให้การลดดอกเบี้ยของ กนง.เป็นการส่งสัญญาณฟื้นความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังหวังให้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่คล่องขึ้นอีกด้วย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเข้าไปเพื่อให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยที่ลดลง

และหากถามว่า หลังลดดอกเบี้ยแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องเริ่มจากความหมายของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็คือ “อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน” ก่อน เพราะเมื่อดอกเบี้ยนโยบายเป็นดอกเบี้ยในการซื้อขายพันธบัตร การลดดอกเบี้ยก็จะส่งผลทันทีต่อทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรโดยรวมให้ลดลงตาม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนของภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีการออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนลดลงตามด้วย

อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ธนาคารลดลงทันที แต่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการส่งผ่านนโยบายไปถึงธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เมื่อนั้นจึงจะส่งผลบรรเทาภาระหนี้ของประชาชน ตามที่ กนง.กล่าวได้จริงในทางปฏิบัติ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศลดดอกเบี้ย ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนส่งก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ธปท.เคยประเมินว่า ประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายจะอยู่ที่ประมาณ 50-60% เท่ากับว่า หาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ก็จะหวังให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125-1.3% ซึ่งแม้จะช่วยลดภาระหนี้ได้ไม่มาก แต่ฝั่งลูกหนี้คงมองว่า ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลดเลย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่เขียน กนง.เพิ่งลดดอกเบี้ยได้ประมาณ 2-3 วัน มีธนาคารรัฐ 2 แห่งคือ ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม 0.25% แต่ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่เชื่อว่าแต่ละธนาคารคงอยู่ระหว่างการประเมินภายในว่า จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงในครั้งนี้ลงหรือไม่ ลดในอัตราใดก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ และในวันที่ได้อ่านอาจมีบางธนาคารลดดอกเบี้ยลงแล้วก็ได้

แต่สุดท้าย หากในครั้งนี้ “กระสุนของ กนง.เกิดด้านขึ้นมา” ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ บรรดาลูกหนี้ก็คงต้องร้องเพลงรอต่อไปอีกระยะ ไปลุ้นอีกทีการประชุม กนง.ครั้งหน้าส่งท้ายปลายปีในเดือน ธ.ค.

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็คงต้องมีคำตอบดีๆให้กับลูกหนี้ว่า มีเหตุผลใดที่ทำให้ยังไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ในทันที.

 ประอร  นพคุณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ