“คลัง” เตรียมถกหน่วยงานเกี่ยวข้องทบทวนข้อกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจขายตรง ตามคำสั่งการของ “นายกฯอิ๊งค์” แก้ปมปัญหาแชร์ลูกโซ่ เผยอยากให้ดีเอสไอนำ พ.ร.ก.กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ไปดูแลแทน ไม่ควรมาอยู่ที่ สศค. เพราะเป็นหน่วยงานนโยบายไม่ใช่ หน่วยงานปฏิบัติ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณารายละเอียดและพร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง เพื่อทบทวนว่าจะมีช่องว่างส่วนใดบ้างที่จะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายมาหลังจากการเกิดกรณีที่มีคนถูกหลอกให้ลงทุนกับบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด จำนวนมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังคงไม่ได้ล้าสมัยในบริบทปัจจุบัน แต่การบังคับใช้กฎหมาย หรือในภาคปฏิบัติต้องไปดู เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก สศค.เป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่เมื่อร่างเสร็จแล้ว กฎหมายฉบับนี้ไม่ควรมาอยู่ที่ สศค. เพราะเป็นหน่วยงาน นโยบาย ไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติ
“เมื่อถือกฎหมายแต่ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวน จะต้องเป็นตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ฉะนั้น การที่จะดูแลผู้เสียหาย หน่วยงานที่ดูแลโดยตรง เช่น DSI ควรจะนำกฎหมายไปถือไว้โดยตรงที่กระทรวงยุติธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาร้องทุกข์ด้วย ทุกครั้งที่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น ไม่เคยมีใครเดินมาร้องทุกข์ที่ สศค.เป็นที่แรก เขาต้องไปหาตำรวจ DSI หรือกระทรวงยุติธรรมก่อน หรือ สคบ.”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ตาม กฎหมาย พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯนั้นสามารถปรับไปให้หน่วยงานอื่นดูแลได้ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออกกฎหมาย เห็นได้จากกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ ทาง สศค.ก็เป็นผู้ยกร่างให้ในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนให้การทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น แต่ในภาคปฏิบัติ หน่วยงานที่กำกับดูแลกฎหมายนี้ คือ กรมที่ดิน คือ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ยกร่างกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนใช้ รมว.มหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย
สำหรับ พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ปัจจุบัน สศค.จะเข้าไปช่วยในชั้นศาล ว่าการดำเนินการเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ฉะนั้น การบังคับใช้กฎหมายอาจจะยังมีช่องว่างอยู่ซึ่งครั้งนี้ จะถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มเข้ามาดูกฎหมาย ทบทวนว่าจะมีช่องว่าง
ส่วนใดบ้าง ที่จะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดิ ไอคอนกรุ๊ป จำกัด ผิดกฎหมาย การแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ต้องดูหลักฐานจากการสอบสวนว่ารายละเอียดธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีการสืบสวนสอบสวนให้เรียบร้อยก่อน จึงจะเห็นหลักฐานว่าเข้าเกณฑ์ความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ หรือไม่
ส่วนกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยส่งหนังสือถึง สศค. ให้ตรวจสอบบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ตั้งแต่ปี 2561 แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ตอบคำถามไปนั้น ยืนยันว่า กรณีที่ สคบ.ถามกระทรวงการคลังมาในลักษณะนี้ เราไม่เคยตอบทุกกรณี เพราะหาก สศค.ตอบไป จะเป็นการฟอกขาวให้กับธุรกิจ กรณีไปดำเนินกิจการที่ไม่เป็นไปตามแผนที่ส่งมาถึงกระทรวงการคลัง ฉะนั้น กระทรวงการคลังจึงไม่ควรตอบคำถามดังกล่าว
“บริษัทบอกว่าวันนี้จะทำแผนธุรกิจแบบนี้ ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย หากตอบไปว่าไม่ผิด บริษัทเหล่านี้ก็จะใช้หลักฐานดังกล่าวไปหลอกลวงประชาชนอีก กรณีหากตั้งใจจะทำผิด ไม่ได้ทำตามแผนที่เขียนมา และอ้างเหตุผลว่ากระทรวงการคลังรับรอง สามารถดำเนินการได้ กระทรวงการคลังจึงไม่ตอบคำถาม เพื่อป้องกันการส่งเสริมการขาย หรือไปฟอกขาวให้ใคร”
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2563 กระทรวงการคลังได้เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ เมื่อ สคบ.ถามมา จึงจะตอบกลับไป มิฉะนั้นเรื่องจะค้าง จึงตอบว่า หากบริษัททำผิดข้อที่กฎหมายห้ามก็จะถือว่าผิด ทั้งนี้ กรณีที่ สคบ. ส่งหนังสือมาที่กระทรวงการคลัง จะสอบถาม 2 ลักษณะ คือ 1.บริษัทจะจัดตั้งใหม่ ดำเนินการเช่นนี้ ผิดหรือไม่ กระทรวงการคลังจะไม่ตอบคำถามดังกล่าว และ 2.กรณีมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ สคบ. และถูกฉ้อโกง มีผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาแล้วว่าผิดกฎหมายกระทรวงการคลัง จะส่งตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ไม่เหมือนกับการกู้ยืมเงินทั่วไป มีลักษณะการหลอกลวงประชาชนด้วยการเสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงกว่าปกติ สำหรับโทษของความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายระบุว่าเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ โดยมีการบัญญัติลักษณะที่เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไว้ใน พ.ร.ก.การกู้ยืม เงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา4 และมาตรา 5 และมีบทลงโทษทางอาญาตามมาตรา12 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาทถึง 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลา ที่ยังฝ่าฝืนอยู่ และยังอาจมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย เมื่ออัยการได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายก็สามารถร้องขอในส่วนของคดีแพ่งให้อัยการเรียกเงินต้นคืน และเรียกผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิตามกฎหมายได้ด้วย ตามมาตรา 9 โดยการนำหลักของการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญามาใช้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม