แม้รูปแบบโครงการจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แต่ขณะนี้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศหลายรายประกาศความพร้อมสนใจร่วมลงทุนแล้วสำหรับ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” เมกะโปรเจ็กต์หารายได้เข้าประเทศของรัฐบาลเพื่อไทย ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวราว 50,000 ล้านบาทต่อปี
โดยขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมนำผลการรับฟังความคิดเห็นของร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรเข้าเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งจากรายงานข่าวล่าสุดคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2567 นี้
ด้านกลุ่มทุนบางส่วนที่สนใจลงทุน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ภายใต้สัมปทานใบอนุญาต 30 ปี และใช้เม็ดเงินพัฒนาต่อแห่งอาจสูงถึง 50,000 ถึง 100,000 ล้านบาทนั้น ประกอบไปด้วย
กลุ่มทุนต่างประเทศ
1. Las Vegas Sands Corporation ซึ่งลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และมาเก๊า
2. Wynn Resorts มีการลงทุนรูปแบบนี้ในประเทศสหรัฐและมาเก๊า
3. Caesars Entertainment ลงทุนในสหราชอาณาจักร
4. MGM China Holdings Limited ลงทุนในมาเก๊า
5. Hard Rock International มีการลงทุนในโครงการรูปแบบนี้ในสหรัฐอเมริกา
กลุ่มทุนไทย
1. ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มีการร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนต่างชาติที่เปิดเผยออกมาเป็นนักลงทุนจากเกาหลีที่ลงทุนในสนามม้า และมีผู้ร่วมทุนต่างชาติอื่นๆ อีก เช่น MGM Resorts International
2. บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และโครงการเมืองการบินที่มีที่ดินขนาดใหญ่กว่า 6,500 ไร่ในจังหวัดระยอง
3. กลุ่มซีพี มีที่ดินมากมาย และมีการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจจะนำที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาพัฒนา หรืออาจจะลงทุนในที่ดินแปลงอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร พัทยา และที่อื่นๆ
4. กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่าง แบงค็อกมอลล์ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ได้ หรืออาจจะพัฒนาที่ดินแปลงอื่นๆ ของตนเอง เช่น รามคำแหง และอื่นๆ อีกหลายทำเลในต่างจังหวัด เช่นที่ ภูเก็ต หัวหิน เป็นต้น
5. กลุ่มบริษัท พราว ก็มีความสนใจในการลงทุนพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร โดยอาจจะร่วมมือกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอื่นๆ โดยทำเลที่พวกเขามองว่าน่าสนใจ คือ พังงา ซึ่งอยู่ติดกับภูเก็ต และกำลังจะมีสนามบินแห่งใหม่
6. กลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ หรือสวนสยาม พร้อมนำที่ดินขนาด 217 ไร่ติดกับสวนน้ำปัจจุบันเพื่อพัฒนาโครงการนี้ โดยต้องการเชื่อมสวนน้ำ สวนสนุกเข้าไปในโครงการด้วย ซึ่งเบื้องต้นมีกลุ่มทุนจากซาอุดิอาระเบีย และมาเก๊าแสดงความสนใจในโครงการนี้
อย่างไรก็ดี ข้อมูลวิเคราะห์โดยกูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี อย่าง “สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) ประเมินว่า น่าจะมีกลุ่มเอกชนไทยรายอื่น ๆ อีกหลายรายที่ยังไม่ได้เปิดเผย หรือยังไม่ปฏิเสธหรือว่าตอบรับใด ๆ ก็มีอีกหลายราย เช่น
กลุ่มทีซีซี แอสเสทเวิลด์ หรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมรายอื่น ๆ เนื่องจากการลงทุนโครงการประเภทนี้อาจจะไม่ได้ลงทุนเองเสียทีเดียว แต่อาจจะมีการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ ต้องรอกฎหมายประกาศใช้ จะเห็นความคึกคักมากขึ้น
เจาะในแง่ทำเลที่ตั้ง “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ของประเทศไทยที่จะมี “กาสิโน” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบด้วยนั้น “สุรเชษฐ” ระบุความเป็นไปได้หลายทำเล เพราะจากที่ติดตามข่าวมาตลอดมีหลาย ๆ ฝ่ายพยายามผลักดันให้โครงการสถานบันเทิงครบวงจรดังกล่าวออกไปนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีความหนาแน่น และมีการพัฒนามากพอแล้ว
อีกทั้ง รัฐบาลมีแนวคิดต้องการให้โครงการขนาดใหญ่แบบนี้อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อช่วยในการผลักดันพื้นที่นั้น ๆ ให้มีความเจริญมากขึ้น รวมไปถึงช่วยให้พื้นที่นั้น ๆ มีคนเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น
ซึ่งหากประเมินจังหวัดที่มีศักยภาพน่าสนใจจากการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีระบบขนส่งมวลชน รวมไปถึงสนามบินนานาชาติพร้อมแล้ว 8 จังหวัด ดังนี้
1. จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอย่างพัทยา และอยู่ในพื้นที่ EEC ซึ่งมีหน่วยงานเฉพาะของ EEC ควบคุม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ กฎหมายหรือพัฒนาโครงการใด ๆ คงสามารถผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ได้รวดเร็วอยู่แล้ว อีกทั้งยังเดินทางจากกรุงเทพมหานครได้สะดวก รวมไปถึงมีสนามบินนานาชาติอย่างสนามบินอู่ตะเภาที่พร้อมรองรับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนเที่ยวบินที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ยังมีท่าเรือขนาดใหญ่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ อีกด้วย
2. จังหวัดระยอง อีก 1 จังหวัดใน EEC ที่มีความพร้อมเช่นกัน อีกทั้งมีสนามบินอู่ตะเภาก็ไม่ไกลจากระยองมากนัก และยังมีที่ดินที่พร้อมรองรับโครงการขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้เรื่องของการเดินทางจากกรุงเทพมหานครก็สะดวก และแทบไม่แตกต่างจากชลบุรีเลย
3. จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดที่อาจจะไม่โดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่อยู่ในพื้นที่ EEC ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีโครงการรูปแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ การเดินทางสะดวก มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่าน และยังต่อยอดไปกับท่องเที่ยวจังหวัดอื่นๆ รอบๆ ได้ เช่น ชลบุรี และสมุทรปราการ
4. จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่ปัจจุบันก็พร้อมสำหรับโครงการขนาดใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งมีทุกอย่างที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมากขึ้น อาจจะต้องเพิ่มเพียงระบบขนส่งมวลชนจากสนามบินให้มีความสะดวกกว่าปัจจุบันเท่านั้น อีกทั้งสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และมีท่าเรือเพื่อรองรับเรือโดยสารทางทะเลขนาดใหญ่ด้วย
5. จังหวัดพังงา จังหวัดที่อาจจะไม่ได้ใหญ่มาก และความพร้อมอาจจะเป็นรองภูเก็ต แต่ด้วยมีสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่กำลังพัฒนาซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีพ.ศ.2572 – 2573 ซึ่งพังงายังสามารถพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ได้อีกมากมาย ต่างจากภูเก็ตที่อาจจะมีหลายอย่างพร้อมกว่า แต่การจะพัฒนาโครงการใดๆ เพื่อรองรับใหม่อาจจะทำได้ยาก เพราะที่ดินมีการพัฒนาไปเยอะแล้ว และราคาที่ดินค่อนข้างสูงในปัจจุบัน
6. จังหวัดสงขลา จังหวัดที่มีชายแดนติดกับมาเลเซียซึ่งปัจจุบันก็มีชาวมาเลเซียเดินทางเข้าท่องเที่ยวจำนวนมากอยู่แล้ว รวมไปถึงชาวต่างชาติอื่นๆ ที่เดินทางเข้า-ออกผ่านจังหวัดสงขลาและมาเลเซีย นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดเพื่อรองรับการเดินทางเข้า-ออกด้วยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
7. จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องของความบันเทิงมากเหมือนในจังหวัดชายทะเล แต่ถ้ามีโครงการประเภทนี้เกิดขึ้นจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน เพียงแต่ต้องหาสถานที่และรูปแบบของการพัฒนาให้ไม่กระทบกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในเชียงใหม่ และไม่กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในสายตาชาวต่างชาติ
8. จังหวัดอุดรธานี แม้ว่าจะไม่ใช่จังหวัดชายแดนประเทศไทยแต่ปัจจุบันก็เป็นจังหวัดที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยว ซื้อสินค้า และทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีความพร้อมในเรื่องของสนามบิน ระบบขนส่งมวลชนในจังหวัด และยังสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ได้ในอนาคต รวมไปถึงอยู่ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับประเทศลาว และจีนด้วย
“ทำเลที่มีความเป็นไปได้ในการเกิดโครงการรูปแบบนี้ มีทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแต่ยังไม่เสร็จ และที่ดินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจทั้งของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินของเอกชนหลายรายที่พร้อมปรับรูปแบบโครงการบางส่วนเพื่อรองรับโครงการรูปแบบนี้ทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล”
ทั้งนี้ จังหวัดตามแนวชายแดนหลายจังหวัดของประเทศไทย เช่น เชียงราย หนองคาย อุบลราชธานี ปราจีนบุรี เป็นต้น ก็เป็นไปได้ที่จะพัฒนาโครงการรูปแบบนี้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงเรื่องของการเดินทาง และการพัฒนาโครงการอื่นๆ ในอนาคตด้วย.
ที่มา : Property DNA
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney