เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

Date Time: 17 ต.ค. 2567 14:53 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2568 กับ 4 ความผิด - จุดบอด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบเรียก เก็บภาษีย้อนหลัง ของคนมี “เงินได้”แต่ไม่ยอมยื่นแบบภาษี

Latest


นับถอยหลัง เตรียมยื่นแบบ “ภาษีบุคคลธรรมดา 2567” ที่จะต้องยื่นในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ปี 2568 ตามบทบาทและหน้าที่พลเมืองไทย ซึ่งเราสามารถยื่นภาษีได้ด้วย 2 วิธีหลักๆ

  • ยื่นภาษีด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน
  • ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร (ช่วงเวลาถึงต้นเดือน เม.ย.)

อีกทั้งยังสามารถกรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้ก็ได้เช่นกัน โดยฐานภาษีคำนวณดังนี้

ก่อนที่กรมสรรพากรจะดำเนินการคืนภาษีให้ภายใน 3 เดือน กรณีมีเอกสารชัดเจนแสดงว่าได้มีการเสียภาษีไว้เกิน ผิด ซ้ำ หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษี หรือแบบ ค.10

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีอีกกรณี คือ โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากความผิดพลาดที่มักพบเห็นได้บ่อยๆ ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น การไม่รู้หลักเกณฑ์ของเงินได้ที่ถูกต้อง หรือยื่นข้อมูลให้สรรพากรไม่ครบ จึงถูกเจ้าพนักงานประเมินเรียกตรวจสอบภาษี นำไปสู่การเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มในที่สุด

อ้างอิงข้อมูลของ บมจ.ธรรมนิติ บริษัทบริการด้านกฎหมายและบัญชีชื่อดัง ระบุไว้สำหรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่ามีอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในปีภาษี 2567 นี้

4 ความผิดที่มักถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง

1. ขายสินค้าออนไลน์แต่ไม่ยื่นรายได้

การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะหากเป็นการขายสินค้า ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ซึ่งมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้เป็นการเหมา (60%) หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง ทำให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ กลางปี (ภ.ง.ด.94) และต้นปี (ภ.ง.ด.90) ซึ่งหากผู้มีเงินได้ไม่ได้ยื่นแบบหรือยื่นไม่ครบถ้วน สรรพากรอาจเรียกตรวจสอบได้

2. มีเงินได้จากสวัสดิการแต่ไม่เสียภาษี

ทุกครั้งที่ได้รับสวัสดิการ ลูกจ้างต้องพิจารณาว่าถือเป็นเงินได้หรือประโยชน์เพิ่มของพนักงานหรือไม่ หากไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ลูกจ้างต้องนำมูลค่าของสวัสดิการที่ได้รับมาคำนวณเป็นเงินได้ รวมกับเงินเดือนค่าจ้างมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

3. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ไม่ได้ยื่นแบบภาษี

หากปรากฏว่าผู้มีเงินได้ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ตามเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานมีอำนาจเรียกตรวจสอบการเสียภาษี เพราะการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเพียงการเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้า ผู้ที่มีเงินได้ยังมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบว่าเงินได้ที่ถูกหักตรงกับเงินได้ในแบบที่ยื่นหรือไม่

4. ยื่นแบบแสดงเงินได้ผิดประเภท

การยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผิดประเภทตามมาตรา 40 จะมีผลทำให้เสียภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายในอัตราที่ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น เงินได้มาตรา 40 (1) หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท แต่เงินได้มาตรา 40 (8) หักค่าใช้จ่ายได้ 60%

ทั้งนี้ หากยื่นภาษีถูกต้องทั้งหมด ผู้ "ขอคืนภาษี" สามารถตรวจสอบสถานะการขอคืนภาษีในเบื้องต้นที่เว็บไซต์สรรพากร จากนั้นคลิก E-Filing, คลิก ส่ง / ตรวจสอบการส่งเอกสารประกอบการคืนภาษี หรือเว็บไซต์สรรพากร จากนั้นคลิก ห้องข่าว, คลิก ข่าวสารอื่น ๆ และคลิก ส่ง/ตรวจสอบการส่งเอกสารประกอบการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ