ม.ค.68 ทางด่วน 50 บ.ตลอดสาย “สุริยะ” เลิกเก็บ “ทางพิเศษเฉลิมมหานคร-ศรีรัช”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ม.ค.68 ทางด่วน 50 บ.ตลอดสาย “สุริยะ” เลิกเก็บ “ทางพิเศษเฉลิมมหานคร-ศรีรัช”

Date Time: 15 ต.ค. 2567 08:35 น.

Summary

  • “สุริยะ” แจ้งข่าวดี นับถอยหลังค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย สำหรับทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช โดยยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ภายในเดือน ม.ค.68 คาดช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางประชาชนกว่า 1.3 พันล้าน/ปี พร้อมเดินหน้าให้เอกชนสร้าง Double Deck 3.4 หมื่นล้านบาท ยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“สุริยะ” แจ้งข่าวดี นับถอยหลังค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย สำหรับทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช โดยยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ภายในเดือน ม.ค.68 คาดช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางประชาชนกว่า 1.3 พันล้าน/ปี พร้อมเดินหน้าให้เอกชนสร้าง Double Deck 3.4 หมื่นล้านบาท ยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 และให้ กทพ.ปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทาง และลดอัตราค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท (50 บาทตลอดสาย) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยในระยะแรกจะดำเนินการบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครนั้น

ทั้งนี้ กทพ.ได้เจรจาร่วมกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดค่าผ่านทางแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 คาดว่า จะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯได้ในเดือน ธ.ค.นี้ และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือน ม.ค.68 โดยเบื้องต้นจะยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น และจะปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่าน ผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่า

“จะลดค่าผ่านทางที่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ซึ่งผู้ใช้ทางสามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ จ่ายค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ และช่วยลดเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนนำค่าผ่านทางที่ประหยัดได้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5”

นอกจากนี้ยังมอบให้ กทพ.เจรจากับ BEM เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มูลค่า 34,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ โดยการก่อสร้าง Double Deck จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันว่า การขยายสัมปทานเป็นการแลกกับการก่อสร้าง Double Deck เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการลดค่าผ่านทาง “การดำเนินการนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์เอกชน แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ซึ่งให้นโยบายไปว่า ทุกกระบวนการต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ