“น้ำท่วม” ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.67 ลดลงต่อเนื่อง 7 เดือน ต่ำสุดรอบ 17–22 เดือน และยังส่งผลจิตวิทยาเชิงลบกลบกระแสรัฐแจกเงินหมื่น ทำให้ไม่เห็นภาพเศรษฐกิจกระเตื้อง แต่กลับส่งสัญญาณซึมตัวในรอบ 2 ปี และยังไม่มีสัญญาณฟื้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.ย.67 ว่า ดัชนีทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 17-22 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.66 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ที่ค่าดัชนีของทุกภาคต่ำกว่า 50 ยกเว้นภาคตะวันออก เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่คาดเสียหาย 30,000-40,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง โดยใช้งบกว่า 145,000 ล้านบาทเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ประกอบกับดัชนีทางเสถียรภาพทางการเมืองลดลง จึงทำให้ความเชื่อมั่นไม่โดดเด่น
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงอื่นอีก เช่น สงครามในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ความกังวลค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง รายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เห็นได้จากดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถยนต์คันใหม่ ท่องเที่ยว ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทยยังซึมตัว และยังไม่มีสัญญาณปรับขึ้น
“บรรยากาศน้ำท่วมที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน จนมาขณะนี้คนกังวลว่าจะลามถึงภาคกลาง กรุงเทพฯ เป็นจิตวิทยาเชิงลบที่กลบความเชื่อมั่นเชิงบวกของการแจกเงินหมื่นบาท จึงฉุดให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และหอการค้าไทยต่ำสุดรอบ 14-22 เดือน เพราะคนยังไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้เห็นภาพว่า การกระตุก กระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ได้ผล และบรรยากาศเศรษฐกิจไทยแย่สุดในรอบเกือบ 2 ปี”
ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากจะให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 2.8% แต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า จะขยายตัวได้แน่ 2.6% ซึ่งมองว่าในช่วงปลายปีเหมาะสมจะออกมาตรการใหม่ๆ อย่างคนละครึ่ง หรือชิม ช้อป ใช้ โดยอาจเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ยังคงคอนเซปต์เดิม เช่น มาตรการกระตุ้นคูณ 2 ที่หอการค้าไทยเคยเสนอไปแล้ว
ขณะเดียวกัน มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% สามารถดำเนินการได้ หรือลดลงได้อีก 0.25% เพราะเงินเฟ้อไทยปีนี้ไม่สูงเกิน 1% ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5% ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังซึมตัว อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยลงอีก หากไทยไม่ลดจะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอีก เพราะหากสหรัฐฯลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในเดือน พ.ย.นี้ รวมเป็น 0.75% มาอยู่ที่ 4.75% แต่ไทยยังเท่าเดิมที่ 2.5% จะทำให้ช่องว่างของดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯแคบลง และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ไทยจึงต้องลดดอกเบี้ยเพื่อทำให้ช่องแคบกลับไปห่างกันใกล้เคียงระดับเดิมที่ 2.5%
“สิ่งที่ต้องจับตาคือ วันที่ 16 ต.ค.นี้ ที่คลังและ ธปท.จะหารือกันเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่คลังต้องการให้อยู่ที่ 1.5-3.5% แต่ ธปท.อยากให้อยู่ที่เดิม 1-3% ซึ่งจะมีผลต่อการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหากอยู่ที่ 1-3% ถือว่ายังต่ำอยู่ และเงินเฟ้อไทยปีนี้ไม่เกิน 1% แน่นอน ธปท.อาจมองว่า เป็นระดับที่เหมาะสมกับการระดมเงินออม แต่คลังก็อาจมีมุมมองที่ต้องการให้ลดลงตามกระแสโลก เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่รู้วา ธปท.จะตอบสนองหรือไม่ และวันเดียวกันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก ก็ต้องจับตาดูว่า จะประกาศลดดอกเบี้ยหรือไม่”
สำหรับดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 55.3 ลดจาก 56.5, ความเชื่อมั่นในปัจจุบัน 39.0 ลดจาก 40.4, ความเชื่อมั่นในอนาคต 63.1 ลดจาก 64.3 ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 48.8 ลดจาก 50.2, ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน 52.7 ลดจาก 53.9 และความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 64.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 49.4 ลดจาก 50.5, ความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 46.6 ลดจาก 47.7 และความเชื่อมั่นในอนาคต 52.2 ลดจาก 53.2
ด้านนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงใหม่ ได้คลี่คลายลง ประชาชนต่างเร่งทำความสะอาดและฟื้นฟู ซึ่งโดยปกติแล้วปลายเดือน ต.ค.เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูหนาว ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจะมีประเพณียี่เป็งในเดือน พ.ย. และคาดว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกในเดือน ธ.ค. โดยได้รับรายงานคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินจากวิทยุการบินฯ ว่า ภาพรวมเที่ยวบินไปกลับเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% จึงได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการให้บริการเพื่อรองรับอำนวยความสะดวกในการเดินทางและความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่กลับสู่สภาวะปกติและคาดว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปเชียงใหม่มีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงท่องเที่ยว (High Season) เดือน ต.ค.นี้ มีเที่ยวบินทำการบิน ณ สนามบินเชียงใหม่ ประมาณ 5,450 เที่ยวบิน ในเดือน พ.ย.คาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบิน รวม 5,920เที่ยวบิน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,230 เที่ยวบินในเดือน ธ.ค. เฉลี่ย 180- 200 เที่ยวบินต่อวัน โดยภาพรวมเที่ยวบินในช่วง 3 เดือนนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10%ในขณะเดียวกันสามารถแบ่งสัดส่วนเป็นเที่ยวบินภายใน ประเทศ 72% เที่ยวบินระหว่างประเทศ28% ซึ่งมีสัดส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม