เกือบ 27 ปีแล้ว นับแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 ซึ่งมาจากการสู้ค่าเงินบาทจนหมดหน้าตักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มีผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เก็บมาช้านาน แทบไม่เหลือ จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยต้องเข้าสู่กระบวนการ ภายใต้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน และวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
นับแต่นั้นมา ธปท.โดยผู้ว่าการแต่ละคนที่สลับหน้ากันเข้าไป ก็แทบไม่กล้าแตะต้องนโยบายการแทรกแซงค่าเงินบาท รวมถึงธุรกรรมการเงินของธนาคารพาณิชย์
โดยเฉพาะในการกำกับดูแลให้มีการปรับลด/ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และความเป็นธรรมต่อคนไทย รวมถึงสนับสนุนการเติบโตในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกเลย
ทำไม ธปท.ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท จึงไม่ดำเนินการใดๆ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลังในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เมื่อพูดถึงหน้าที่ของสองหน่วยงานสำคัญนี้ ทั้งคู่ควรสลับกันออกมาทำหน้าที่ตนในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
ในด้านการลงทุน กระทรวงการคลังมีหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเสนอลดภาษี หรือยืด ระยะเวลาบังคับใช้ภาษีใหม่ๆ และทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรม แต่งานด้านนี้เป็นงานที่จะเห็นผลในระยะข้างหน้า ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ หรือให้ทันต่อเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น
ส่วนของ ธปท.มีหน้าที่เป็นตัวการหลัก ในเวลาที่จำเป็นต้องประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าอย่างมั่นคง ไม่ตกต่ำจนประชาชนเดือดร้อน และไม่ร้อนแรงเกินไปจนเกิดความสุ่มเสี่ยง
โดยเฉพาะในยามที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนหนัก ธปท.ต้องเข้าไปเป็นหลักในการทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกด้วยการเข้าแทรกแซง หรือดำเนินการใดๆให้เห็นท่าทีที่จริงจังเพื่อสยบการแข็งค่าของเงินบาท แต่ปัญหาคือ ธปท.ไม่ทำ
ถ้า ธปท.ไม่ทำหน้าที่นี้ จะให้ใครทำ ก็คงทำไม่ได้?
ในช่วงเดือนสองเดือนมานี้ เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นไปกว่าเพื่อนบ้านถึง 4-5 % ผู้ส่งออกไทยได้แต่นั่งมองตาปริบๆว่าต้นทุนวัตถุดิบของเพื่อนต่ำกว่าของตัวมาก ผลที่จะตามมาคือ ผู้ส่งออกขาดทุน และ GDP ประเทศจะลดต่ำลง ในขณะที่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเที่ยวไทยเพราะค่าเงินบาทถูก ก็จะหยุดดูก่อน
หลายคนอาจลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เศรษฐกิจก็เล็กไปด้วย ฉะนั้นตัวที่จะช่วยเศรษฐกิจประเทศได้มีเพียงการส่งออกกับท่องเที่ยวเท่านั้น
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ค่าเงินบาทอ่อนเพื่อช่วยส่งออก และทำให้หนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลง จึงจำเป็นต้องทำเร่งด่วน โดยเฉพาะในสภาวะที่อาจเกิดสงครามตะวันออกกลางขึ้นในเร็ววันนี้
จะปรับลดลง 0.5% เช่นเดียวกับคุณพ่อเฟด ก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้ในทันที แต่หาก ธปท.ยังขึงขังยืนคอแข็งอยู่ ผู้คนซึ่งมีเหตุผลอาจมองเห็นว่าในความอิสระนี้ อาจแฝงไว้ด้วย ความกลัว ม.157 ที่ขลาดมากกว่าจะ “แก้ไข”
ด้วยความรัก...ถึงเวลานี้ เราจะต้องการคนดี มีสกุล เรียน หนังสือเก่ง แต่ไม่ใช่นักการเงินที่รับรู้เรื่องราวในตลาดค้าเงิน หรือสามารถใช้เครื่องมือใหม่ๆในการควบคุมเสถียรภาพค่าเงินไปเพื่ออะไร...?!
แสงทิพย์ ยิ้มละมัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม