เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการปิดห้องหารือระหว่างนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนอกเหนือจากความพยายามเกลี้ยกล่อมให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดภาระผ่อนส่งให้กับบรรดาลูกหนี้ในระบบ ช่วยเพิ่มบรรยากาศสมานฉันท์ระหว่างนโยบายการเงินการคลัง และสร้างความมั่นใจในการใช้จ่ายให้กับประชาชนแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือ คือ “ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไป” เกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และจากการหารือพบว่า เหตุผลที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าแรงและเร็วมากๆ ปัจจัยส่วนใหญ่ 70-80% มาจากต่างประเทศ ขณะที่อีก 20-30% มาจากในประเทศ
โดยหากจะให้ตั้งข้อสังเกตถึงวงจร “เงินบาท” หากมองจากปัจจัยในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นเมื่อ “ดอกเบี้ยสหรัฐฯอยู่ในทิศทางลดลง เศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งนำโดยจีน มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น ราคาทองคำโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือสงครามในพื้นที่ต่างๆของโลก”
หากจำกันได้ นักลงทุนต่างชาติมองว่า “เงินบาท” เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เคลื่อนไหวไม่รุนแรงเท่ากับสกุลอื่นๆหลายสกุล ทำให้มีความกังวลน้อยกว่าในการมาหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ย จากพันธบัตรระยะสั้น และจากตลาดหุ้น
ค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าขึ้นได้อีกทาง จากความเชื่อมั่นที่มองว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยตรงในโครงการ หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมทั้งจากดุลการค้าดุลบริการที่เกินดุล เพราะเราได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกมากกว่าการนำเข้า และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น เมื่อคนเอาเงินตราต่างประเทศมาแลกเงินบาทจำนวนมาก เพื่อชะลอการแข็งค่าเร็วๆ ธปท.ก็ต้องเข้าแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์ทันที และล่วงหน้าเก็บไว้ ส่งผลให้ทุนสำรองทางการฯสูงขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากการได้คุยกับนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม ซึ่งกำลังตั้งข้อสังเกตถึง “คุณภาพของเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในขณะนี้” โดยตั้งคำถามถึงสัดส่วนระหว่างเงินทุนที่เข้ามาโดยตรง เงินที่เข้ามาจากการเกินดุล ซึ่งเป็นประโยชน์ของประเทศ ว่า มีมากกว่าหรือน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรผลตอบแทนจากดอกเบี้ย พันธบัตร และที่ร้ายที่สุดคือ เงินที่เข้ามาเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทโดยตรง
ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลด “เงินทุนต่างชาติหลบจากความผันผวนสูงของตลาดการเงินโลกเข้ามา ผลตอบแทนสูงในไทย” ได้ แต่การลดดอกเบี้ยอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ หรือสามารถไล่เงินทุน หรือบุคคลที่อาศัยความผันผวนสูงของค่าเงินทั่วโลกเข้ามาเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท
ดังนั้น ในการหารือเรื่องค่าเงินบาทครั้งต่อไป คลังและ ธปท.น่าจะต้องหยิบยกเรื่อง “คุณภาพของเงินทุน” มาหารือให้มากขึ้น เพื่อที่จะมองให้รอบด้านถึงปัจจัยที่มีผลต่อเงินทุน และเงินบาทของประเทศไทย.
มิสเตอร์พี