Fitch Ratings สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จัดงาน “Fitch on Thailand 2024” นำเสนอข้อมูลเชิงลึกของเศรษฐกิจและธนาคารในประเทศไทย เอเชียแปซิฟิก ไปจนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจทั่วโลก เผยภาพรวมประเทศไทย ด้านเศรษฐกิจจะยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ภายในประเทศที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย
จากข้อมูลของ Fitch Ratings พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในอนาคตจะยังคงมีการเติบโต แต่จะชะลอตัวลง โดยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2025 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5% จาก 2.7% ในปี 2024
ในขณะที่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงโตต่อเนื่อง การใช้จ่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคยังอยู่ในระดับคงที่ แต่ในฝั่งยุโรปยังคงท้าทายสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 2022 และยังต้องประสบกับปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในภาพรวม Fitch Ratings ยังคงจัดอันดับว่า “Stable” หรือ “มีมุมมองคงที่” จากปีก่อนหน้า ยกเว้นในประเทศจีนที่มีมุมมองในเชิงลบ (Negative) ด้วยอัตราหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นสูงกว่ารายได้
นอกจากนี้ จีนแม้จะมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่คงที่ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีความต้องการลดลง โดยเฉพาะในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงต่อเนื่อง
สงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกา ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่มีกำหนดเลือกตั้งในปี 2024 นี้ ยังคงต้องรอดูนโยบายใหม่ที่จะออกมา โดยเฉพาะในประเทศใหญ่ อย่างอินเดีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ
หากเทียบกับเพื่อนบ้านในเอเชียแล้ว ประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่ แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่ง Fitch คาดว่า ในปี 2024 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ 2.6% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ในปี 2025
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2019 และคาดว่าการขาดดุลงบประมาณ (Fiscal Deficit) น่าจะยังคงอยู่สูงกว่า 4% ของ GDP ในปี 2025 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2024 นี้
โดย Fitch Ratings คาดว่านโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะยังคงมีความต่อเนื่องหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับการขาดดุลได้ในต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค
ในส่วนของแนวโน้มการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ธนาคารในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีแนวโน้มการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าธนาคารในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Market)
สำหรับประเทศในตลาดเกิดใหม่ Fitch Ratings คาดว่า ธนาคารในประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะมีผลประกอบการที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง และสำหรับธนาคารในประเทศไทย ผลประกอบการได้ฟื้นตัวขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความเสี่ยงได้มีการปรับตัวลดลงไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ระยะสั้น และความท้าทายด้านกลยุทธ์การเติบโตและการแข่งขันในระยะยาว
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney