คลังหารือแบงก์ชาติ “หวานหยด” ลุยปรับโครงสร้างหนี้ ชี้คนเข้าถึงสินเชื่อ สำคัญกว่าลด “ดอกเบี้ย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คลังหารือแบงก์ชาติ “หวานหยด” ลุยปรับโครงสร้างหนี้ ชี้คนเข้าถึงสินเชื่อ สำคัญกว่าลด “ดอกเบี้ย”

Date Time: 3 ต.ค. 2567 18:26 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • พิชัย รมว.คลังเผย หารือผู้ว่าแบงก์ชาติรอบแรก ลุยปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยคนเข้าถึงสินเชื่อ สำคัญกว่าลดดอกเบี้ย ชี้ "บาทแข็ง" ไม่กระทบปริมาณส่งออก จ่อถกกรอบเงินเฟ้อรอบสอง ภายในเดือน ต.ค.นี้

Latest


ความคืบหน้าการหารือประเด็นการขยายกรอบเงินเฟ้อ และการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่า นำหลายสกุลในภูมิภาค ระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย

ล่าสุดวันนี้(3 ต.ค.2567) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการหารือร่วมกับเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง 30 นาที ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยมีการหารือเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งนี้สถาบันการเงินรัฐ ได้ดำเนินการผ่านมาตรการการคลังไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังจะร่วมกับสถาบันการเงิน และ Non-bank ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ โดย ไม่ให้เกิดอันตรายทางศีลธรรม(Moral Harzard) ซึ่งเป็นภาวะที่ลูกหนี้ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ และหารือปัญหาลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นหนี้เสียหลายแสนบัญชี แต่ภาระหนี้ต่อบัญชีน้อย ทั้งในระบบธนาคารพาณิชย์และเครดิตบูโร ซึ่งกำลังหารือกันว่าจะทำอย่างไร

สำหรับประเด็นค่าเงินบาทนั้น มองว่า เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะไม่กระทบปริมาณการส่งออก แต่จะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกในไตรมาส 4 ปรับดีขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ไม่สามารถแก้ได้โดยตรง ต้องพิจารณาใช้หลายเครื่องมือ โดยดอกเบี้ยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง เป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องเข้าไปดูแล

หาก กนง.ลดดอกเบี้ย ไม่กี่เบสิสพอยท์ การส่งผ่านไปยังลูกหนี้ไม่ได้มีผลมากนัก เมื่อเทียบกับปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยให้คนที่มีโอกาสฟื้นตัวจากหนี้ เข้าถึงแหล่งเงินทุน มีสภาพคล่องและไปต่อได้นั้นสำคัญกว่า

ตอนนี้ภาคการเงินไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เห็นภาพตรงกัน อย่างไรก็ตามการหารือครั้งนี้ทั้งคลังและธปท.เข้าใจกันดี โดยมีมุมมองเดียวกันในการให้ความสำคัญกับการช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

ทั้งนี้จะนัดวันหารือประเด็นกรอบเงินเฟ้ออีกครั้ง ภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยปัจจุบันประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 มีแนวโน้มอยู่ที่ราว 1% ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีหลุดกรอบล่าง ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1%-3%

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ